นิ่วในถุงน้ำดี สัญญาณเตือนที่ต้องระวัง

อาการปวดท้อง แน่นท้อง เป็นอีกหนึ่งภาวะที่เกิดขึ้นได้กับหลายคน และส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าเกิดจากการกินอาหารมากเกินไปหรืออาหารไม่ย่อย แต่ความจริงแล้ว นั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรค นิ่วในถุงน้ำดี (Gallstone) ซึ่งเป็นภาวะที่พบได้บ่อยในระบบทางเดินอาหาร ที่เกิดจากการตกตะกอนของสารบางชนิดภายในถุงน้ำดี โดยก้อนนิ่วมีขนาดเล็กได้ตั้งแต่เท่าเม็ดทรายหรือใหญ่กว่านั้น เมื่อตะกอนอุดตันในถุงน้ำดีจะส่งผลให้เกิดอาการต่าง ๆ ตามมา หากปล่อยไว้โดยไม่เข้ารับการรักษา อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้

อาการเริ่มต้น นิ่วในถุงน้ำดี

7 สัญญาณเตือนนิ่วในถุงน้ำดีที่ไม่ควรมองข้าม

เพื่อให้ทราบถึงอาการเริ่มต้นของโรคนิ่วในถุงน้ำดี และให้ผู้ป่วยได้ตระหนักถึงอันตรายของโรค ต่อไปนี้คือ 7 สัญญาณเตือนของ นิ่วในถุงน้ำดี ที่ไม่ควรมองข้าม

1. ปวดท้องบริเวณชายโครงขวา อาการเป็น ๆ หาย ๆ

อาการปวดท้องบริเวณชายโครงขวา หนึ่งในอาการที่พบบ่อยที่สุดของ นิ่วในถุงน้ำดี โดยอาการปวดมักเกิดขึ้นหลังรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง และอาจปวดร้าวไปถึงบริเวณหลังหรือสะบักขวา อาการนี้อาจเป็น ๆ หาย ๆ หากมีอาการปวดรุนแรงและปวดนานเกิน 6 ชั่วโมง ต้องรีบพบแพทย์

2. ท้องอืด แน่นท้อง รู้สึกไม่สบายหลังรับประทานอาหาร

นิ่วในถุงน้ำดีสามารถรบกวนการทำงานของระบบย่อยอาหาร โดยเฉพาะการย่อยไขมัน ทำให้ผู้ป่วยมี อาการท้องอืด แน่นท้อง เรอบ่อย หรือรู้สึกไม่สบายท้อง หลังรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง และอาการแน่นท้องหรือท้องอืดเรื้อรังยังอาจเป็นสัญญาณเริ่มต้นของนิ่วในถุงน้ำดีได้อีกด้วย

3. คลื่นไส้ อาเจียน โดยเฉพาะหลังรับประทานอาหารมัน

เมื่อถุงน้ำดีทำงานผิดปกติ นอกจากอาการปวดท้องหลังมื้ออาหารแล้ว บางคนอาจมีความรู้สึกคลื่นไส้ อาเจียน ร่วมด้วย และหากเป็นเรื้อรังหรือเกิดขึ้นซ้ำ ๆ โดยที่ไม่มีสาเหตุที่ชัดเจน นั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนอาการนิ่วในถุงน้ำดีได้

4. อุจจาระสีซีด ปัสสาวะสีเข้ม ผิดปกติจากเดิม

เมื่อระบบน้ำดีถูกก้อนนิ่วอุดตัน สีของอุจจาระและปัสสาวะจะเปลี่ยนไป เพราะมีการขับบิลิรูบินออกทางปัสสาวะทำให้มีสีเข้มคล้ายชา ส่วนสีของอุจจาระจะมีลักษณะซีดคล้ายดินเหนียว บางคนอุจจาระจะเปลี่ยนเป็นสีขาว

5. ตัวเหลือง ตาเหลือง สัญญาณของการอุดตันในทางเดินน้ำดี

กรณีที่นิ่วหลุดไปอุดตันในท่อน้ำดี จะส่งผลให้สีผิวกลายเป็นสีเหลือง และตาขาวจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง เพราะไม่สามารถขับบิลิรูบินออกได้ตามปกติ

6. ไข้ หนาวสั่น อาการแทรกซ้อนที่อาจบ่งบอกถึงถุงน้ำดีอักเสบ

หากมีไข้ร่วมกับอาการปวดท้องและตัวเหลืองตาเหลือง อาจเป็นภาวะแทรกซ้อนที่บ่งบอกได้ว่าเกิดการติดเชื้อในทางเดินน้ำดี ซึ่งอาการไข้ที่เกิดขึ้นจะเป็นอาการที่เกิดอย่างเฉียบพลัน และผู้ป่วยมักจะมีไข้สูง หนาวสั่น หากมีภาวะนี้ต้องรีบพบแพทย์เป็นการด่วน เพราะอาจนำไปสู่การติดเชื้อในกระแสเลือดได้

7. เบื่ออาหาร น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ

ถุงน้ำดีทำงานผิดปกติ อาจรบกวนระบบย่อยอาหาร ทำให้เบื่ออาหารและน้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ หากมีอาการนี้ร่วมกับอาการอื่น ๆ ควรเข้าพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย
มีอาการเหล่านี้อย่าปล่อยไว้ : ปรึกษาแพทย์ฟรี

สาเหตุ นิ่วในถุงน้ำดี

นิ่วในถุงน้ำดีเกิดจากอะไร?

นิ่วในถุงน้ำดี เกิดจากการตกตะกอนของสารบางชนิด เช่น คอเลสเตอรอล บิลิรูบิน ที่อยู่ในน้ำดี โดยสาเหตุที่ทำให้เกิดการตกตะกอนของสารเหล่านี้ อาจเป็นไปได้ว่ามาจากการติดเชื้อของทางเดินน้ำดี ความไม่สมดุลของคอเลสเตอรอลและบิลิรูบินทำให้กลายเป็นก้อนนิ่วที่เกิดขึ้นได้ตั้งแต่ก้อนเดียวและหลายก้อน รวมถึงขนาดที่อาจเป็นได้ทั้งขนาดใหญ่และเล็ก

นอกจากสาเหตุภายในร่างกายแล้ว ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากพฤติกรรมและการใช้ชีวิตที่ทำให้เกิดภาวะนิ่วในถุงน้ำดีได้ ดังนี้

  • ผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปี ขึ้นไป
  • ผู้หญิงที่เคยมีบุตร หรือกำลังตั้งครรภ์
  • ผู้ป่วยโรคเบาหวานร่วมกับมีระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง
  • ผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมีย โรคเบาหวาน โรคไทรอยด์
  • ผู้ที่มีภาวะอ้วนและมีคอเลสเตอรอลในเลือดสูง
  • การทานยาลดไขมันบางชนิด
  • การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูงเป็นประจำ
  • ภาวะเบาหวานหรือโรคตับบางชนิด
  • ร่างกายละลายไขมันมากจนเกินไปจากการลดน้ำหนักอย่างรวดเร็ว
  • มีประวัติคนในครอบครัวเป็นนิ่วในถุงน้ำดี

นิ่วในถุงน้ำดีอันตรายแค่ไหน? ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น

อันตรายของภาวะนิ่วในถุงน้ำดีที่ต้องระวังคือ การอักเสบเฉียบพลันซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกปวดท้องอย่างรุนแรง และมีโอกาสติดเชื้อในกระแสเลือดได้ นอกจากนี้ยังต้องระวังภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นด้วย ดังนี้

1. ลำไส้อุดตัน

เมื่อมีการคั่งของน้ำดีจนทะลุไปสู่ช่องท้องหรืออวัยวะอื่น ๆ ภายในระบบทางเดินอาหาร อาจทำให้ก้อนนิ่วไปอุดตันที่บริเวณลำไส้ได้ โดยส่วนใหญ่แล้วภาวะแทรกซ้อนนี้มักจะเกิดกับบริเวณส่วนที่ลำไส้ตีบแคบ

2. มะเร็งถุงน้ำดี

ผู้ป่วยโรคมะเร็งถุงน้ำดีส่วนใหญ่จะเคยมีภาวะนิ่วในถุงน้ำดีมาก่อน ยิ่งเป็นกรณีที่ผู้ป่วยมีก้อนนิ่วในถุงน้ำดีขนาดใหญ่ ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งชนิดนี้มากขึ้น

3. ตับอ่อนอักเสบ

ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากการอุดตันของนิ่วในท่อน้ำดีทำให้ผู้ป่วยมีอาการของดีซ่าน และหากปล่อยไว้จะทำให้ตับอ่อนอักเสบได้

วิธีวินิจฉัยนิ่วในถุงน้ำดี

เนื่องจากนิ่วในถุงน้ำดีนั้นมีอาการที่คล้ายกับหลายโรค และอาจเป็น ๆ หาย ๆ ทำให้การตรวจวินิจฉัยโดยแพทย์เป็นเรื่องสำคัญ โดยวิธีที่แพทย์ใช้วินิจฉัยนิ่วในถุงน้ำดีมีหลายวิธี เช่น การอัลตราซาวด์ช่องท้องส่วนบน ซึ่งเป็นวิธีหลักที่ใช้ตรวจหานิ่วในถุงน้ำดี โดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูงเพื่อสร้างภาพของถุงน้ำดี แสดงให้เห็นขนาดและตำแหน่งของก้อนนิ่วได้อย่างแม่นยำแต่ในบางกรณีที่ต้องมีการตรวจหานิ่วในท่อน้ำดี หรือวินิจฉัยเกี่ยวกับภาวะตับอ่อนอักเสบ อาจจำเป็นต้องใช้วิธีเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT-Scan) การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRCP) หรือการวินิจฉัยด้วยวิธีส่องกล้องระบบทางเดินอาหารส่วนบน เพื่อการวิเคราะห์ที่แม่นยำและเลือกวิธีรักษาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับผู้ป่วย

วิธีรักษานิ่วในถุงน้ำดี

วิธีรักษานิ่วในถุงน้ำดี

นิ่วในถุงน้ำดี เป็นโรคที่ไม่สามารถหายไปได้เอง การรักษาที่ได้ผลดีที่สุดสำหรับผู้ป่วยคือการผ่าตัด โดยปัจจุบันการผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดี มีอยู่ 2 วิธี

1. การผ่าตัดเปิดหน้าท้อง

การผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง (Open Surgery) เป็นการผ่าตัดที่แพทย์จะทำการผ่าตัดผ่านทางช่องท้องบริเวณชายโครงขวา เพื่อตัดเอาถุงน้ำดีและนิ่วออก เหมาะกับผู้ที่มีภาวะถุงน้ำดีแตกทะลุ มีอาการดีซ่าน หรือเกิดการอักเสบที่รุนแรง และยังเป็นวิธีที่เหมาะกับผู้ที่มีพังผืดที่ผนังหน้าท้องหรือลำไส้จากการผ่าตัดมาก่อน

2. การผ่าตัดผ่านกล้อง

การผ่าตัดรักษานิ่วในถุงน้ำดีผ่านกล้อง (Laparoscopic Cholecystectomy) เป็นวิธีผ่าตัดเพื่อเอาถุงน้ำดีออก ด้วยวิธีสอดกล้องและอุปกรณ์ผ่าตัดผ่านทางช่องท้อง โดยไม่ต้องผ่าตัดเปิดหน้าท้อง ทำให้ผู้ป่วยเสียเลือดน้อย ลดความเสี่ยงของการติดเชื้อและภาวะแทรกซ้อน และใช้เวลาพักฟื้นไม่นาน วิธีนี้เหมาะกับผู้ป่วยที่มีอาการปวดท้องจากนิ่วในถุงน้ำดี มีนิ่วจำนวนหลายก้อน และก้อนนิ่วมีขนาดใหญ่ร่วมกับถุงน้ำดีอักเสบ

การป้องกันนิ่วในถุงน้ำดี ทำอย่างไรได้บ้าง?

ภาวะนิ่วในถุงน้ำดี สามารถป้องกันและลดความเสี่ยงได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต และการเลือกทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ดังนี้

  • เลือกทานอาหารจำพวกแป้งไม่ขัดสี เช่น ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีท
  • รับประทานเมล็ดธัญพืช ถั่วประเภทที่มีใยอาหารชนิดละลายน้ำ
  • หลีกเลี่ยงการทานอาหารไขมันสูง
  • เพิ่มปริมาณ ผักและผลไม้ให้เพียงพอต่อวัน
  • เลือกทานเนื้อสัตว์ที่ย่อยง่าย ไม่ติดมัน เช่น เนื้อไก่ เนื้อปลา
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อควบคุมน้ำหนัก ลดระดับน้ำตาลในเลือดและคอเลสเตอรอล

นิ่วในถุงน้ำดี ภาวะที่ต้องรีบรักษาก่อนสาย

นิ่วในถุงน้ำดี เป็นภาวะที่อาจไม่แสดงอาการในระยะแรก แต่หากมีอาการปวดท้อง แน่นท้อง เจ็บชายโครงขวาที่สงสัยว่าเป็นสัญญาณเตือนของโรค ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและทำการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อป้องกันการลุกลามไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง นอกจากนี้การดูแลตัวเองด้วยการปรับพฤติกรรมการกิน หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง และออกกำลังกายสม่ำเสมอก็เป็นอีกวิธีที่จะช่วยลดความเสี่ยงของโรคนี้ได้  

สำหรับท่านที่มีความกังวลเกี่ยวกับอาการปวดท้อง แน่นท้อง หรือรู้สึกอาหารไม่ย่อย ที่ MSC Healthcare มีทีมแพทย์เฉพาะทางผู้ชำนาญการพร้อมให้คำปรึกษา เพื่อคัดกรองและวินิจฉัยโรค รวมถึงกรณีที่ต้องผ่าตัดรักษานิ่วในถุงน้ำดีผ่านกล้อง ด้วยอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทันสมัย ปลอดภัย และติดตามผลก่อน-หลังผ่าตัด เพื่อการรักษาที่ดีที่สุด สอบถามและทำนัดหมาย โทร : 065-509-4459