
มะเร็งเต้านม คือหนึ่งในโรคมะเร็งที่พบมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของผู้หญิงไทย และหลายคนมีภาวะของโรคนี้โดยไม่รู้ตัว เพราะส่วนใหญ่จะรู้เมื่อมะเร็งอยู่ในระยะลุกลามที่เป็นอันตรายและรักษาได้ยาก การตรวจเต้านมด้วยตนเองจึงเป็นวิธีตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมที่ทำได้ง่ายและมีความสำคัญในการช่วยประเมินความเสี่ยงของโรคได้ เพราะหากตรวจพบตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ย่อมลดความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายไปยังอวัยวะส่วนอื่น ๆ ได้

ทำไมผู้หญิงควรตรวจเต้านมด้วยตัวเอง?
แม้ว่าการตรวจเต้านมที่โรงพยาบาลจะมีเครื่องมือที่ทันสมัยและให้ผลที่แม่นยำ แต่การ ตรวจมะเร็งเต้านมด้วยตัวเอง (Breast Self-Examination – BSE) จากที่บ้าน ก็เป็นวิธีที่สะดวกและไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย อีกทั้งการเห็นความเปลี่ยนแปลงหรือความผิดปกติของเต้านมยังช่วยให้รับรู้ได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ ด้วยว่ามีความเสี่ยงหรือไม่ นอกจากนี้การตรวจพบมะเร็งเต้านมในระยะเริ่มต้นยังช่วยเพิ่มโอกาสในการรักษาให้หายขาดได้
ใครบ้างที่เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านม?
ผู้หญิงทุกคนมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งเต้านม โดยเฉพาะผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 35 ปี ขึ้นไปควรได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมเพื่อหาความผิดปกและทำการรักษาได้ทันท่วงที ทั้งนี้ นอกจากปัจจัยด้านอายุแล้ว ยังมีอีกหลายปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งเต้านมได้ ดังนี้
- ผู้ที่เริ่มมีประจำเดือนเร็ว หรือก่อนอายุ 12 ปี
- ผู้ที่ไม่มีบุตร หรือมีคนแรกหลังอายุ 30 ปี
- ทานยาคุมกำเนิดมานานเกิน 10 ปี
- มีประวัติคนในครอบครัวเคยเป็นมะเร็งเต้านมหรือมะเร็งรังไข่
- เคยผ่านการฉายแสงบริเวณทรวงอก
- ภาวะอ้วน น้ำหนักเกินเกณฑ์
- พฤติกรรมที่มีความเสี่ยง เช่น ขาดการออกกำลังกาย สูบบุหรี่ เป็นเวลานาน
- พันธุกรรม เช่น การกลายพันธุ์ของยีนส์ BRCA-1 หรือ BRCA-2
- ผู้ที่หมดประจำเดือนหลังอายุ 55 ปี
วิธีตรวจเต้านมด้วยตัวเอง (Breast Self-Examination – BSE)
การตรวจเต้านมด้วยตนเอง ควรทำเป็นประจำทุกเดือน โดยเฉพาะหลังจากมีประจำเดือน 7-10 วัน เนื่องจากเต้านมจะไม่คัดตึง ทำให้ตรวจได้ง่ายขึ้น
ขั้นตอนการตรวจ
- สังเกตด้วยการยืนตรงหน้ากระจก โดยให้แขนแนบลำตัว สังเกตขนาด รูปร่าง และผิวหนังของเต้านมว่ามีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ จากนั้นยกแขนขึ้นเหนือศีรษะแล้วหมุนตัวช้า ๆ แล้วลองสังเกตอีกครั้ง จากนั้นให้ยืนท่าเท้าเอวจากนั้นค่อย ๆ โน้มตัวไปด้านหน้าเล็กน้อย แล้วลองสังเกตความผิดปกติของเต้านมอีกครั้ง
- ลองใช้นิ้วมือบีบที่หัวนมเบา ๆ แล้วสังเกตดูว่ามีการคัดหลั่งของเลือด หนอง หรือมีน้ำไหลออกมาจากหัวนมหรือไม่
- ตรวจเต้านมด้วยการคลำบริเวณกระดูกไหปลาร้าลงมา โดยใช้มือซ้ายคลำบริเวณเต้านมขวา แล้วใช้นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนาง กดลงบริเวณผิวหนังโดยเริ่มจากเบา ๆ แล้วค่อย ๆ กดให้แรงขึ้น การตรวจเต้านมด้วยการคลำต้องทำให้ทั่วเต้านมไปจนถึงบริเวณใต้วงแขน แล้วสลับไปทำแบบเดียวกันกับเต้านมอีกข้าง
- ตรวจเต้านมในท่านอน โดยปรับจากท่ายืนมาเป็นท่านอนราบแล้ววางหมอนหรือผ้าขนหนูม้วนใต้ไหล่ข้างที่จะตรวจ ยกแขนข้างนั้นขึ้นเหนือศีรษะ ใช้มืออีกข้างตรวจเต้านมด้วยวิธีเดียวกับท่ายืน
สัญญาณเตือนของมะเร็งเต้านมที่ต้องระวัง
หากพบความผิดปกติหรือความเปลี่ยนแปลงจากการตรวจเต้านมด้วยตัวเอง ไม่ควรนิ่งนอนใจ เพราะนั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคมะเร็งเต้านม โดยความผิดปกติที่ต้องระวังมีดังนี้
- มีก้อนเนื้อเต้านมหนาผิดปกติบริเวณเต้านมหรือรักแร้
- การเปลี่ยนแปลงของขนาดหรือรูปร่างเต้านม
- ผิวหนังของเต้านมมีรอยย่นหรือบุ๋ม
- มีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งของหัวนม
- มีของเหลวไหลออกจากหัวนมโดยไม่ทราบสาเหตุ
- ผิวหนังรอบเต้านมหรือหัวนมมีรอยแดงหรือเป็นขุย
- มีผื่นคันบริเวณหัวนม และฐานรอบหัวนมบุ๋ม
ตรวจพบสัญญาณเตือนมะเร็งเต้านม ปรึกษาแพทย์ฟรี

การดูแลสุขภาพเพื่อลดความเสี่ยงมะเร็งเต้านม
แม้ว่าปัจจัยเสี่ยงบางอย่างไม่สามารถควบคุมได้ แต่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตก็เป็นวิธีที่สามารถช่วยลดความเสี่ยงได้ ดังนี้
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ช่วยควบคุมน้ำหนักและเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ด้วยการเพิ่ม ผัก ผลไม้ และธัญพืช เข้าไปในมื้ออาหาร
- หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านม
- รักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ โดยเฉพาะหลังวัยหมดประจำเดือน
- ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการใช้ฮอร์โมนทดแทนหรือการรับประทานยาคุมกำเนิด เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อมะเร็งเต้านม
เมื่อตรวจพบความผิดปกติที่เต้านม ควรทำอย่างไร?
หากพบความผิดปกติหรือก้อนในเต้านม ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยเพิ่มเติมทันที เพราะความผิดปกติที่เกิดขึ้นนั้นอาจเป็นไปได้ทั้งโรคมะเร็งเต้านม และเป็นสัญญาณเตือนของโรคอื่น ๆ ได้เช่นกัน โดยแพทย์จะตรวจเพิ่มตามภาวะและอาการของผู้ป่วย เช่น การทำแมมโมแกรม อัลตราซาวนด์ หรือการตัดชิ้นเนื้อเพื่อตรวจวินิจฉัย หากพบความเป็นไปได้ว่าเป็นมะเร็งเต้านม แพทย์จะวางแผนในการรักษาต่อไป
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการตรวจเต้านมด้วยตัวเอง
การตรวจเต้านมด้วยตัวเองอาจเป็นเรื่องที่สร้างความกังวลให้กับผู้หญิงหลายคน เพื่อคลายความสงสัยได้มากขึ้น ต่อไปนี้คือคำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับเรื่องการตรวจเต้านมด้วยตัวเอง
ควรตรวจเต้านมด้วยตัวเองบ่อยแค่ไหน?
ตอบ : แนะนำให้ตรวจเต้านมด้วยตนเองเป็นประจำเดือนละครั้ง โดยช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดคือหลังจากมีประจำเดือน 7-10 วัน เนื่องจากเต้านมจะไม่คัดตึง ทำให้สามารถตรวจพบความผิดปกติได้ง่ายขึ้น สำหรับผู้ที่หมดประจำเดือนแล้ว ควรกำหนดวันในแต่ละเดือนเพื่อตรวจเต้านมให้เป็นกิจวัตร และควรตรวจในวันเดียวกันทุก ๆ เดือน
วิธีตรวจเต้านมแบบไหนให้ผลดีที่สุด?
ตอบ : วิธีที่ดีที่สุดคือการใช้ทั้งการสังเกตและการคลำเต้านมด้วยปลายนิ้ว ตรวจสอบขนาด รูปร่าง ผิวหนัง และหัวนมหน้ากระจก จากนั้นใช้ปลายนิ้วกดวนเป็นวงกลมไปรอบเต้านมและใต้รักแร้ในท่ายืนและท่านอน การทำเช่นนี้จะช่วยให้สามารถตรวจพบก้อนหรือความผิดปกติได้ตั้งแต่ระยะแรก
พบก้อนที่เต้านมเสมอ แปลว่ามะเร็งหรือไม่?
ตอบ : ไม่จำเป็นต้องเป็นมะเร็งเสมอไป ก้อนที่เต้านมอาจเกิดจากถุงน้ำหรือเนื้องอกธรรมดา อย่างไรก็ตาม หากพบก้อนที่ไม่เคยมีมาก่อน และก้อนมีลักษณะแข็ง ไม่สามารถเคลื่อนที่ได้ หรือสังเกตเห็นว่ามีขนาดโตขึ้น ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม
จำเป็นต้องตรวจแมมโมแกรมแม้ไม่มีอาการหรือไม่?
ตอบ : จำเป็น การตรวจแมมโมแกรมเป็นวิธีที่สามารถตรวจพบมะเร็งเต้านมได้แม้ยังไม่มีอาการ แนะนำให้ผู้หญิงอายุ 40 ปีขึ้นไปตรวจแมมโมแกรมทุก 1-2 ปี และผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงสูงควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับความถี่ในการตรวจ
มะเร็งเต้านม ยิ่งตรวจพบเร็ว ยิ่งเพิ่มโอกาสในการรักษาให้หายขาด
วิธีตรวจเต้านมด้วยตัวเอง เป็นวิธีง่าย ๆ ที่ช่วยให้ผู้หญิงสามารถเฝ้าระวังและมีโอกาสตรวจพบมะเร็งเต้านมในระยะแรกได้ แม้ว่าจะไม่สามารถทดแทนการตรวจโดยแพทย์หรือแมมโมแกรมได้ แต่ก็เป็นวิธีที่ช่วยเพิ่มความตระหนักรู้และลดความเสี่ยงจากโรคนี้ได้ หากพบความผิดปกติ ควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยอย่างถูกต้อง
นอกจากนี้การดูแลสุขภาพโดยการออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง และเข้ารับการตรวจคัดกรองอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยลดโอกาสเกิดมะเร็งเต้านม และเพิ่มโอกาสในการรักษาหายได้ในกรณีที่ตรวจพบมะเร็งตั้งแต่ระยะแรกสำหรับผู้ที่มีความกังวลเกี่ยวกับมะเร็งเต้านม หรือตรวจเต้านมด้วยตัวเองแล้วพบความเปลี่ยนแปลงที่สังเกตเห็นได้ชัด ที่ศูนย์ผ่าตัดส่องกล้อง MSC Healthcare มีทีมแพทย์เฉพาะทางผู้ชำนาญการพร้อมให้คำปรึกษา เพื่อประเมินความเสี่ยงและวินิจฉัยเพิ่มเติม พร้อมแนะนำแนวทางรักษาเหมาะสมที่สุดสำหรับผู้ป่วย สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ที่ @msc.healthcare หรือโทร. 065-509-4459