โรคริดสีดวง

ริดสีดวง กับ ฝีคัณฑสูตร โรคที่เกิดขึ้นบริเวณทวารหนักและมีอาการบางอย่างคล้ายกัน หลายคนมักเข้าใจว่าคือโรคเดียวกัน  แต่ความจริงแล้วโรคฝีคัณฑสูตร กับ โรคริดสีดวงนั้นแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ทั้งสาเหตุและตำแหน่งของการเกิดโรค รวมถึงรายละเอียดของอาการตามความรุนแรงในแต่ละระยะ การทำความเข้าใจและสังเกตอาการของโรคด้วยตัวเองเบื้องต้นจึงเป็นวิธีที่ช่วยลดความเสี่ยงก่อนจะนำไปสู่ระยะที่รุนแรงได้

ริดสีดวงทวารคืออะไร?

ริดสีดวงทวาร (Hemorrhoids) เป็นภาวะที่เส้นเลือดบริเวณทวารหนักและลำไส้ตรงส่วนล่างมีขนาดใหญ่ขึ้นคล้ายเส้นเลือดขอด โดยริดสีดวงทวารนั้นแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้

  • ริดสีดวงภายนอก : การที่เนื้อเยื่อใต้แนวเส้นประสาท Dentate Line ยืดออกเป็นติ่งเนื้อลักษณะเป็นก้อนนูนรอบบริเวณรูทวาร หากก้อนมีขนาดใหญ่อาจทำให้ปวดและส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตได้
  • ริดสีดวงภายใน : การที่เนื้อเยื่อและหลอดเลือดทวารหนักใต้แนว Dentate Line เคลื่อนตัวมาบริเวณปากทวารหนัก ทำให้มีเลือดออกเมื่อขับถ่าย และความรุนแรงยังแบ่งได้ถึง 4 ระยะ

อ่านบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติม : ริดสีดวงภายนอกกับภายใน อาการแตกต่างกันอย่างไร?

ฝีคัณฑสูตรคืออะไร?

ฝีคัณฑสูตร (Anal Fistula) เป็นภาวะที่เกิดจากการอุดตันของต่อมผลิตเมือกที่อยู่รอบขอบทวารหนัก ทำให้เกิดการอักเสบติดเชื้อจนกลายเป็นฝีหนอง เมื่อปริมาณหนองเพิ่มมากขึ้นขนาดของฝีจะขยายใหญ่จนสามารถทะลุออกมายังชั้นผิวด้านนอกได้ หากผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ อาจทำให้ฝีหนองแตกและมีหนองไหลมาที่ผนังรอบ ๆ ปากทวารกลายเป็นฝีคัณฑสูตร

วิธีสังเกตอาการ ริดสีดวง vs ฝีคัณฑสูตร

โรคริดสีดวงและฝีคัณฑสูตร ต่างก็เป็นภาวะที่เกิดขึ้นบริเวณทวารหนักเช่นเดียวกัน วิธีแยกโรคที่ง่ายที่สุดก็คือสังเกตอาการ เพราะอาการของริดสีดวงและฝีคัณฑสูตรนั้นมีความแตกต่างกันในรายละเอียด ดังนี้

อาการโรคริดสีดวงทวาร

  • มีเลือดออกปนกับอุจจาระ หรือเลือดออกหลังขับถ่ายโดยไม่มีความรู้สึกเจ็บปวด
  • อาจมีก้อนเนื้อปลิ้นและยุบกลับเข้าไปได้
  • มีอาการคันหรือระคายเคืองรอบบริเวณทวารหนัก
  • มีอาการปวดและบวมบริเวณทวารหนัก

อาการโรคฝีคัณฑสูตร

  • มีน้ำเหลือง เลือด หรือหนองไหลซึมจากแผลที่ผิวหนังบริเวณทวารหนัก
  • มีตุ่มขึ้นบริเวณผิวหนังใกล้ทวารหนัก
  • มีอาการคันบริเวณผิวหนังรอบทวารหนัก
  • มีอาการเจ็บปวดและบวมรอบทวารหนัก
สาเหตุของโรคริดสีดวง และฝีคัณฑสูตร

สาเหตุของริดสีดวงและฝีคัณฑสูตร

นอกจากโรคริดสีดวง กับ โรคฝีคัณฑสูตรจะมีอาการที่แตกต่างกันในบางกรณีแล้ว สาเหตุของการเกิดโรคก็ยังมีความแตกต่างกันด้วย ดังนี้

สาเหตุของโรคริดสีดวงทวาร

  • การเสื่อมสภาพของหลอดเลือดใต้ผิวหนังรอบ ๆ ทวารหนัก
  • พฤติกรรมการนั่งถ่ายอุจจาระเป็นเวลานาน
  • ภาวะท้องผูกหรือท้องเสียเรื้อรัง
  • พฤติกรรมการเบ่งถ่ายเป็นประจำ
  • โรคอ้วนหรือมีภาวะน้ำหนักเกินเกณฑ์
  • ขาดการรับประทานอาหารที่มีกากใย
  • ออกแรงยกของหนักเป็นประจำ

สาเหตุของโรคฝีคัณฑสูตร

  • ต่อมผลิตเมือกเกิดการอุดตัน ทำให้เกิดการอักเสบเป็นฝีหนอง
  • เคยได้รับการรักษามะเร็งด้วยการฉายรังสี
  • ความเจ็บป่วยจากโรค เช่น กามโรค มะเร็ง วัณโรค ถุงผนังลำไส้อักเสบ ลำไส้อักเสบเรื้อรัง หรือโรคโครห์น
  • การติดเชื้อแบคทีเรีย 

วิธีการรักษา

การรักษาโรคริดสีดวงและโรคฝีคัณฑสูตร แพทย์จะพิจารณาตามระยะและความรุนแรงของโรคเพื่อบรรเทาความเจ็บปวดให้กับผู้ป่วย และลดโอกาสเกิดซ้ำ ดังนี้

วิธีรักษาโรคริดสีดวง

สำหรับการรักษาโรคริดสีดวง แพทย์จะประเมินจากระยะและอาการของโรค โดยวิธีรักษานั้นสามารถทำได้ทั้งผ่าตัดและไม่ผ่าตัด

1. การรักษาริดสีดวงแบบไม่ผ่าตัด

กรณีที่รักษาโดยไม่ผ่าตัด แพทย์จะพิจารณาจากอาการและระยะของโรค เพื่อหาการรักษาที่เหมาะสม โดยส่วนใหญ่แล้วการรักษาแบบไม่ผ่าตัดจะใช้รักษาผู้ป่วยในระยะที่ 1 และ 2 ด้วยวิธีต่อไปนี้

  • รับประทานยา : ยาเม็ดช่วยให้หลอดเลือดริดสีดวงทวารหดลงเหมาะกับผู้ที่มีเลือดออก แต่มีอาการน้อย 
  • ยางรัด : แพทย์จะใช้ยางชนิดพิเศษที่มีความยืดหยุ่นรัดบริเวณหัวริดสีดวง ทำให้ฝ่อและหลุดออกไปเอง
  • ฉีดยา : การฉีดสารทางการแพทย์เพื่อหยุดการไหลของเลือด และทำให้ริดสีดวงทวารหดลง 

2. การรักษาริดสีดวงแบบผ่าตัดด้วยเลเซอร์

การผ่าตัดด้วยเลเซอร์เป็นวิธีที่รักษาที่ช่วยลดความเจ็บป่วยให้กับผู้ป่วย และเป็นวิธีรักษาแบบไร้แผล โดยแพทย์จะใช้เลเซอร์เจาะที่บริเวณปากทวารเพื่อทำให้ริดสีดวงฝ่อลง ไม่ต้องผ่าทวารหนักโดยตรง ใช้เวลาในการรักษาน้อยและผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวได้เร็ว หลังผ่าตัดสามารถเคลื่อนไหวได้ตามปกติ และกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้เร็วกว่าการผ่าตัดแบบเดิม 

3. การรักษาริดสีดวงด้วยการผ่าตัดแบบดั้งเดิม

วิธีมาตรฐานที่แพทย์จะใช้รักษาริดสีดวงทวารระยะที่ 3 และ 4 หรือรักษาด้วยวิธีอื่นไม่หาย แต่การรักษาด้วยการผ่าตัดแบบดั้งเดิมมักจะส่งผลให้ผู้ป่วยเจ็บปวดหลังผ่าตัดมาก

วิธีรักษาโรคฝีคัณฑสูตร

โรคฝีคัณฑสูตรนั้นจำเป็นต้องรักษาด้วยวิธีผ่าตัด เพราะการอักเสบเรื้อรังจากฝีหนองมักไม่สามารถหายเองได้และอาจลุกลามเป็นปัญหารุนแรงขึ้น การผ่าตัดรักษาจึงเป็นวิธีที่ช่วยเพิ่มโอกาสหายขาดและลดความเจ็บปวด โดยการผ่าตัดรักษาฝีคัณฑสูตรในปัจจุบันทำได้ 3 วิธี ดังนี้

1. การผ่าตัดแบบดั้งเดิม

การผ่าตัดแบบดั้งเดิมแพทย์จะตัดหูรูดทวารหนักออกเล็กน้อย เพื่อเป็นการเปิดเส้นทางการไหลของฝีหนองให้ออกมาจนหมด แต่การผ่าตัดด้วยวิธีนี้ต้องอาศัยความชำนาญของศัลยแพทย์ร่วมด้วย เพื่อลดการสูญเสียกล้ามเนื้อหูรูดมากเกินไป เพราะอาจส่งผลให้เกิดปัญหาการกลั้นอุจจาระหลังผ่าตัดได้

2. การผ่าตัดแบบ LIFT

การผ่าตัดแบบ LIFT (Ligation of Intersphincteric Fistula Tract) เป็นเทคนิคการผ่าตัดแบบไม่ตัดหูรูด วิธีนี้แพทย์จะใช้การผูกบริเวณรูเปิดของฝีคัณฑสูตร เพื่อไม่ให้แบคทีเรียเข้าไปยังโพรงฝี ซึ่งวิธีนี้จะไม่ทำให้เกิดความเสียหายต่อกล้ามเนื้อหูรูด ช่วยลดความเสี่ยงในเรื่องของการกลั้นอุจจาระหลังผ่าตัด และเป็นวิธีรักษาที่แผลเล็ก เจ็บน้อย ใช้เวลาพักฟื้นไม่นาน

3. การผ่าตัดด้วยเลเซอร์

การผ่าตัดรักษาด้วยเลเซอร์ เป็นวิธีที่แพทย์จะใส่ Laser Probe ผ่านผิวหนังภายนอกเข้าไปในโพรงฝี เพื่อควบคุมเลเซอร์ในการทำลายเนื้อเยื่อในโพรงฝี เพื่อทำการปิดรูเปิดภายในและรูเปิดภายนอก โดยเทคนิคนี้จะทำให้เกิดการหดตัวของเนื้อเยื่อและกลายเป็นแผลเป็นทำให้โพรงฝีตัน

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?

เมื่อมีอาการที่เข้าข่ายว่าเป็นโรคริดสีดวง หรือโรคฝีคัณฑสูตร ไม่ควรนิ่งนอนใจ เพราะทั้ง 2 โรคนี้ หากปล่อยให้เป็นเรื้อรังจะนำไปสู่ระยะที่มีความรุนแรงมากขึ้น ดังนั้น เมื่อมีอาการต่อไปนี้ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที

  • มีเลือดหรือหนองไหลออกทางทวารหนักบ่อยครั้ง
  • มีอาการปวดรุนแรงหรืออักเสบรอบทวารหนัก
  • มีหนองไหลจากบริเวณรอบทวารหนัก
  • พบก้อนหรือตุ่มผิดปกติ
  • มีอาการบวมรอบบริเวณทวารหนัก
วิธีป้องกันริดสีดวงและฝีคัณฑสูตร

ป้องกันริดสีดวงและฝีคัณฑสูตรอย่างไร?

โรคริดสีดวงและฝีคัณฑสูตร เป็นโรคที่มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องของระบบขับถ่าย ปัญหาสุขภาพ และพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้ป่วย ซึ่งในหลาย ๆ ปัจจัยสามารถป้องกันได้ ดังนี้

  • รับประทานอาหารที่มีเส้นใยสูงเพื่อให้ขับถ่ายง่าย ลดการเกิดท้องผูกเรื้อรัง
  • ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อวัน
  • ไม่ควรทำกิจกรรมขณะขับถ่าย เพื่อหลีกเลี่ยงการนั่งขับถ่ายนานเกินไป
  • รักษาสุขอนามัยหลังขับถ่ายอย่างเหมาะสม
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอเพื่อควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์
  • งดสูบบุหรี่

สรุปข้อแตกต่างระหว่างริดสีดวงกับฝีคัณฑสูตร

แม้ว่าทั้งริดสีดวงทวาร และฝีคัณฑสูตร จะเป็นโรคที่เกิดขึ้นบริเวณทวารหนักเช่นเดียวกัน แต่เมื่อพิจารณาจากสาเหตุและอาการแล้ว มีความแตกต่างกันค่อนข้างชัดเจน อย่างไรก็ตามอาการในช่วงแรกของทั้ง 2 โรคนี้อาจมีความใกล้เคียงที่แยกได้ยาก ดังนั้นหากสังเกตพบว่ามีความเป็นไปได้ว่ามีภาวะของโรคริดสีดวง หรือฝีคัณฑสูตรควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยและหาแนวทางการรักษาที่เหมาะสมจะดีที่สุด

สำหรับคนไข้ที่มีความกังวลเกี่ยวกับโรคริดสีดวง หรือฝีคัณฑสูตร ที่ศูนย์ให้คำแนะนำการผ่าตัดผ่านกล้อง MSC Healthcare มีทีมแพทย์ผู้ชำนาญการ พร้อมให้คำปรึกษาผ่านระบบ Tele-Med ที่สะดวกรวดเร็ว เพื่อให้ผู้ป่วยได้ข้อมูลและแนวทางในการรักษา และเตรียมความพร้อมได้มากที่สุดสำหรับกรณีที่ต้องเข้ารับการผ่าตัด

สอบถามหรือทำนัดหมายเพื่อรับคำปรึกษาเบื้องต้นได้ที่

โทร. 065-509-4459

Line : @msc.healthcare