
โรคไส้เลื่อน หนึ่งในโรคที่หลายคนรู้จักและเข้าใจว่าเป็นโรคที่เกิดขึ้นกับผู้ชายเท่านั้น แต่ความจริงแล้ว ไส้เลื่อน เป็นภาวะที่พบได้ทั้งในเพศหญิงและเพศชาย โดยภาวะนี้เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิตในหลายด้าน การทำความเข้าใจเกี่ยวกับสาเหตุและอาการไส้เลื่อน รวมถึงวิธีป้องกัน เป็นวิธีที่ช่วยลดความเสี่ยงและลดความรุนแรงของโรคได้
การผ่าตัดกระเพาะบายพาสคืออะไร?

ไส้เลื่อนคืออะไร?
ไส้เลื่อน (Hernia) คือ การที่เนื้อเยื่อภายในช่องท้อง เช่น ลำไส้หรือเนื้อเยื่อไขมัน เคลื่อนผ่านบริเวณเนื้อเยื่อหน้าท้องหรือขาหนีบไม่แข็งแรง ทำให้เกิดเป็นตุ่มบวมหรือก้อนนูนที่มองเห็นใต้ผิวหนัง ภาวะนี้ไม่สามารถหายเองได้ตามธรรมชาติ และหากมีอาการรุนแรงหรือมีความเสี่ยงต่อการถูกอุดตัน จำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดไส้เลื่อนเป็นกรณีเร่งด่วน เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นได้
ตำแหน่งไส้เลื่อนที่พบบ่อย
ตำแหน่งของภาวะไส้เลื่อนนั้นสามารถเกิดขึ้นได้หลายส่วนของร่างกาย แต่ที่พบบ่อยที่สุด คือ ไส้เลื่อนขาหนีบ ซึ่งเป็นภาวะที่ลำไส้เคลื่อนมาอยู่บริเวณขาหนีบหรือถุงอัณฑะ ผู้ป่วยที่มีภาวะนี้มักจะมีอาการปวดหน่วง ๆ และมองเห็นก้อนนูนชัดเจนเมื่อไอ จาม หรือออกกำลังกาย ส่วนตำแหน่งไส้เลื่อนที่พบบ่อยในผู้หญิง คือ ภาวะไส้เลื่อนบริเวณต่ำกว่าขาหนีบ เนื่องจากสรีระของอุ้งเชิงกรานในผู้หญิงมีความกว้างมากกว่าผู้ชาย
ไส้เลื่อนมีกี่ประเภท และแตกต่างกันอย่างไร?
ไส้เลื่อนมีหลายประเภท แบ่งตามบริเวณที่เกิดไส้เลื่อน ซึ่งการวินิจฉัยและรักษาของแพทย์ก็จะแตกต่างกันในแต่ละตำแหน่งด้วย โดยประเภทของไส้เลื่อนที่พบบ่อยแบ่งได้ 7 ประเภท ดังนี้
1. ไส้เลื่อนบริเวณขาหนีบ (Inguinal Hernia)
ภาวะไส้เลื่อนที่พบบ่อยที่สุด เกิดจากผนังหน้าท้องบริเวณขาหนีบมีความอ่อนแอซึ่งส่วนใหญ่เป็นมาตั้งแต่กำเนิด ก่อนที่จะแสดงอาการมากขึ้นเมื่อเข้าสู่วัยกลางคน ทำให้บางส่วนของลำไส้หรือเนื้อเยื่อไขมันเคลื่อนผ่านช่องบริเวณผนังหน้าท้องมากองอยู่บริเวณขาหนีบ หรือบริเวณถุงอัณฑะในผู้ชาย
2. ไส้เลื่อนบริเวณต่ำกว่าขาหนีบ (Femoral Hernia)
ภาวะไส้เลื่อนที่พบบ่อยในเพศหญิง เกิดจากลำไส้หรือเนื้อเยื่อไขมันบางส่วนเคลื่อนผ่าน Femoral Canal ที่อยู่บริเวณต่ำกว่าขาหนีบลงมาและกองอยู่บริเวณนั้นจนมองเห็นก้อนนูน
3. ไส้เลื่อนภายในช่องเชิงกราน (Obturator Hernia)
ประเภทของไส้เลื่อนที่เกิดจากลำไส้บางส่วนไหลผ่านช่องเปิดบริเวณกระดูกเชิงกรานไปกองรวมกัน ส่วนใหญ่แล้วเป็นภาวะไส้เลื่อนที่พบในผู้หญิง และเป็นประเภทของไส้เลื่อนที่พบได้น้อยที่สุด
4. ไส้เลื่อนกะบังลม (Hiatal Hernia)
ไส้เลื่อนที่พบบ่อยทั้งเพศหญิงและเพศชายวัยกลางคน เกิดจากความดันในช่องท้องมากผิดปกติและกล้ามเนื้อกะบังลมหย่อน ทำให้อวัยวะในช่องท้องเคลื่อนผ่านทางช่องโหว่ของกะบังลมไปอยู่บริเวณทรวงอก
5. ไส้เลื่อนบริเวณสะดือ (Umbilical Hernia)
ประเภทของไส้เลื่อนในตำแหน่งนี้ส่วนใหญ่แล้วเป็นภาวะที่เกิดกับเด็กทารกที่คลอดก่อนกำหนด และพบได้ตั้งแต่กำเนิดทำให้มองเห็นก้อนนูนที่บริเวณสะดือ แต่ก็เป็นภาวะที่สามารถพบได้ในผู้ใหญ่ หรือ ผู้สูงอายุได้เช่นเดียวกัน หลายคนจะรู้จักภาวะนี้ในชื่อเรียก สะดือจุ่น
6. ไส้เลื่อนบริเวณแผลผ่าตัด (Incisional Hernia)
ภาวะไส้เลื่อนที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยที่เคยเข้ารับการผ่าตัดหน้าท้อง ทำให้ลำไส้เคลื่อนตัวไปกองบริเวณที่เคยมีแผลผ่าตัด เนื่องจากกล้ามเนื้อและพังผืดที่บางลงกว่าปกติ
7. ไส้เลื่อนบริเวณข้างกล้ามเนื้อหน้าท้อง (Spigelian Hernia)
ภาวะไส้เลื่อนที่พบบ่อยในผู้สูงวัย เพราะเมื่ออายุมากขึ้นพังผืดบริเวณข้างกล้ามเนื้อหน้าท้องจะเริ่มหย่อนตัวลง ทำให้ลำไส้เคลื่อนตัวมากองอยู่บริเวณขอบของกล้ามเนื้อท้องซึ่งอยู่ต่ำกว่าสะดือ
อาการของไส้เลื่อน
แม้ว่าตำแหน่งและประเภทของไส้เลื่อนจะมีความแตกต่างกันในแต่ละจุด แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว อาการไส้เลื่อน จะมีลักษณะเฉพาะที่คล้ายกัน ซึ่งผู้ป่วยสามารถสังเกตได้ ดังนี้
- มองเห็นก้อนนูนบริเวณที่มีภาวะไส้เลื่อนเกิดขึ้น เช่น ขาหนีบ ถุงอัณฑะ หรือหน้าท้อง เมื่อนอนราบก้อนนูนจะหายไป และจะมองเห็นได้ชัดเมื่อ ไอ จาม หัวเราะ หรือการเบ่งขับถ่าย
- รู้สึกปวดหน่วง ๆ ในตำแหน่งที่เกิดไส้เลื่อน
- ปวดมากเวลาที่ต้องออกแรงยกของหนัก
- มีอาการท้องอืด แน่นท้อง บางคนอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน
- กรณีที่ปล่อยไว้นานผู้ป่วยอาจมองเห็นขนาดก้อนนูนใหญ่ขึ้นและอาจมีภาวะลำไส้อุดตัน
- กรณีของไส้เลื่อนกะบังลม จะไม่มีก้อนนูนให้เห็น แต่ผู้ป่วยอาจรู้สึกแสบร้อนกลางอก อาหารไม่ย่อย เจ็บหน้าอก ร่วมกับอาการกลืนลำบาก
สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของการเกิดไส้เลื่อน
การเกิดภาวะไส้เลื่อน มีสาเหตุที่แตกต่างกันในแต่ละตำแหน่งและประเภทของไส้เลื่อน นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่มาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตร่วมด้วย ดังนี้
- การยกของหนักหรือการออกกำลังกายที่ใช้แรงมาก ทำให้เกิดแรงกดทับในช่องท้องเพิ่มขึ้น
- ภาวะอ้วนหรือมีน้ำหนักเกินส่งผลให้เกิดความดันในช่องท้องสูงขึ้น
- การไอเรื้อรังหรือการเบ่งถ่ายเมื่อท้องผูก ส่งผลให้เกิดแรงดันในช่องท้องบ่อยครั้ง
- การตั้งครรภ์ทำให้ผนังช่องท้องต้องรับแรงกดทับมากขึ้น
- ประวัติการผ่าตัดช่องท้อง ทำให้ผนังช่องท้องบริเวณที่เคยผ่าตัดหย่อนยาน
- ไส้เลื่อนบางประเภทเกิดจากความผิดปกติที่เป็นมาตั้งแต่กำเนิด

วิธีรักษาไส้เลื่อนที่มีประสิทธิภาพ
โรคไส้เลื่อนเมื่อเป็นแล้วไม่สามารถหายได้เอง การรักษาไส้เลื่อนขึ้นอยู่กับประเภทและความรุนแรงของอาการ ซึ่งวิธีรักษาที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด แพทย์มักแนะนำให้รักษาด้วยการผ่าตัดไส้เลื่อน โดยแบ่งได้ 2 ประเภท ดังนี้
- การผ่าตัดแบบเปิด : การผ่าตัดแบบดั้งเดิม ด้วยการผ่าตัดเปิดผิวหนังบริเวณตำแหน่งที่เกิดไส้เลื่อน จากนั้นแพทย์จะทำการดันก้อนนูนกลับเข้าที่แล้วเย็บผนังกล้ามเนื้อจุดที่อ่อนแอและเสริมแผ่นตาข่ายชนิดพิเศษเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะไส้เลื่อนซ้ำ
- การผ่าตัดแบบส่องกล้อง : วิธีผ่าตัดไส้เลื่อนแบบส่องกล้องเป็นเทคนิคผ่าตัดที่แพทย์จะใช้วิธีส่องกล้องผ่านทางสะดือ เพื่อเสริมแผ่นตาข่ายที่ช่วยป้องกันภาวะไส้เลื่อน หลังการผ่าตัดสะดือจะม้วนเก็บแผล ทำให้แทบจะมองไม่เห็นแผลผ่าตัด อีกทั้งยังเป็นเทคนิคที่บาดเจ็บน้อย ฟื้นตัวเร็ว และไม่ทำให้เกิดรอยแผลเป็นบนหน้าท้อง
อ่านบทความที่น่าสนใจ : Single Port Laparoscopic Surgery เทคนิคผ่าตัดรูเดียวผ่านการส่องกล้อง ไร้แผล เจ็บน้อย ฟื้นตัวไว
การดูแลตัวเองหลังการรักษาไส้เลื่อน
หลังจากได้รับการรักษาไส้เลื่อน การดูแลตัวเองเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยป้องกันการกลับมาเกิดซ้ำและส่งเสริมการฟื้นตัวที่รวดเร็ว ผู้ป่วยควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ดังนี้
- พักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงการยกของหนักหรือกิจกรรมที่ทำให้เกิดแรงดันในช่องท้อง
- รับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ เพื่อเสริมสร้างการฟื้นฟูของร่างกาย
- ติดตามอาการอย่างใกล้ชิด หากมีอาการผิดปกติหรือเจ็บปวดมากขึ้น ควรปรึกษาแพทย์ทันที
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หลังจากได้รับอนุญาตจากแพทย์ควรเพิ่มการออกกำลังกายที่เหมาะสม เพื่อเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อช่องท้อง

แนวทางการป้องกันการเกิดไส้เลื่อน
การป้องกันไส้เลื่อนเริ่มต้นได้ด้วยการดูแลสุขภาพโดยรวม และหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่อาจกระตุ้นให้เกิดแรงดันในช่องท้องสูง ดังนี้
- ควบคุมน้ำหนัก รักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
- ออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อช่องท้องและลดความอ่อนแอ
- หลีกเลี่ยงการยกของหนักโดยไม่ถูกวิธี ใช้เทคนิคการยกที่ถูกต้องเพื่อลดการออกแรงมากเกินไป
- ทานอาหารที่มีกากใยสูง เช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืช เพื่อลดอาการท้องผูกในระยะยาว
- ลดและเลิกสูบบุหรี่ เพื่อไม่ให้กระตุ้นให้เกิดอาการไอเรื้อรัง
โรคไส้เลื่อน ยิ่งปล่อยไว้ ยิ่งอันตราย รักษาได้ด้วยการผ่าตัด
ไส้เลื่อน เป็นอีกหนึ่งภาวะที่ไม่ควรปล่อยให้เป็นนาน เพราะส่งผลต่อร่างกายในหลายด้านและกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน ดังนั้น เมื่อสังเกตเห็นว่ามีความผิดปกติที่มีอาการใกล้เคียงกับภาวะไส้เลื่อน ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัย และหาแนวทางรักษาที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยได้มากที่สุด โดยที่ MSC Healthcare เรามีทีมแพทย์ผู้ชำนาญการในด้านผ่าตัดส่องกล้องรักษาไส้เลื่อน ด้วยเทคนิคผ่าตัดรูเดียวที่ช่วยลดความเจ็บป่วย เสียเลือดน้อย แผลเล็ก พร้อมตาข่ายชนิดพิเศษที่ออกแบบมาเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดี ลดโอกาสเกิดไส้เลื่อนซ้ำได้ในระยะยาว
สอบถามและทำนัดหมาย
Line : @msc.healthcare
โทร : 065-509-4459