
ระบบทางเดินอาหารเป็นอวัยวะสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการย่อยและดูดซึมสารอาหารเข้าสู่ร่างกาย หากเกิดความผิดปกติ อาจนำไปสู่โรคร้ายแรงที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพโดยรวม การส่องกล้องทางเดินอาหาร (Endoscopy) เป็นเทคนิคทางการแพทย์ที่ช่วยให้แพทย์สามารถตรวจสอบภาวะความผิดปกติของทางเดินอาหารได้อย่างละเอียด เพื่อทำการรักษาได้อย่างแม่นยำ

การส่องกล้องทางเดินอาหารคืออะไร?
การส่องกล้องทางเดินอาหาร (Endoscopy) เป็นวิธีการตรวจวินิจฉัยที่ใช้กล้องขนาดเล็กในการตรวจดูภายในระบบทางเดินอาหาร โดยสามารถส่องกล้องตรวจระบบทางเดินอาหารผ่านทางปากหรือผ่านทางทวารหนักเพื่อหาสาเหตุของอาการผิดปกติ การตรวจโรคด้วยวิธีส่องกล้องจะช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคได้แม่นยำ และวางแนวทางรักษาโรคในระบบทางเดินอาหารได้เหมาะสมกับผู้ป่วยมากที่สุด
การส่องกล้องทางเดินอาหารช่วยตรวจโรคอะไรได้บ้าง?
การส่องกล้องทางเดินอาหาร สามารถตรวจวินิจฉัยโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารได้หลายโรค และช่วยให้ตรวจพบความผิดปกติได้ตั้งแต่ระยะแรก รวมทั้งช่วยลดความเสี่ยงการแพร่กระจายของโรคได้ โดยการส่องกล้องทางเดินอาหารนั้นสามารถตรวจแยกโรคได้ 2 รูปแบบ
1. ส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนบน (Esophagogastroduodenoscopy : EGD)
การตรวจส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนบน เป็นการส่องกล้องที่ช่วยให้แพทย์มองเห็นและวินิจฉัยความผิดปกติที่เกิดขึ้นบริเวณหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้ส่วนต้นได้ชัดเจน ช่วยให้แพทย์วินิจฉัยโรคในระบบทางเดินอาหารส่วนบนได้อย่างแม่นยำ
2. ส่องกล้องระบบทางเดินอาหารส่วนล่าง (Colonoscopy)
การตรวจระบบทางเดินอาหารส่วนล่าง จะเป็นการสอดกล้องชนิดอ่อนผ่านทางทวารหนัก เพื่อตรวจหาความผิดปกติที่เกิดขึ้นในลำไส้ใหญ่ทั้งหมด อาจครอบคลุมถึงลำไส้เล็กส่วนปลาย ช่วยให้แพทย์สามารถเก็บชิ้นเนื้อเพื่อตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมได้อย่างแม่นยำ
การส่องกล้องทั้งสองวิธีนั้นอาจแตกต่างกันตามอาการและความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วย โดยสามารถตรวจโรคที่เกี่ยวกับทางเดินอาหารด้วยวิธีส่องกล้องได้ ดังนี้
- แผลในกระเพาะอาหาร
- กระเพาะอาหารอักเสบ
- กรดไหลย้อนเรื้อรัง
- ติ่งเนื้อในกระเพาะอาหารและลำไส้ใหญ่
- มะเร็งกระเพาะอาหารและมะเร็งลำไส้ใหญ่
อ่านบทความที่น่าสนใจ :ปวดใต้ซี่โครงขวา สัญญาณเตือนอาการเริ่มต้นของนิ่วในถุงน้ำดี

ขั้นตอนการส่องกล้องทางเดินอาหาร
การส่องกล้องระบบทางเดินอาหาร แพทย์จะให้ยาชาเฉพาะที่หรือยาสลบแก่ผู้ป่วยก่อนที่จะดำเนินการส่องกล้อง โดยจะเริ่มขั้นตอนต่าง ๆ หลังจากที่ผู้ป่วยรู้สึกชา หรือหลับสนิทแล้ว ดังนี้
- แพทย์ปรับท่าทางให้ผู้ป่วยนอนตะแคงซ้าย แล้วใส่กล้องขนาดเล็กเข้าทางปากผ่านสายยางขนาดเล็ก โดยแพทย์จะตรวจดูความผิดปกติตั้งแต่บริเวณคอ หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร จนถึงลำไส้เล็กส่วนต้น โดยระหว่างตรวจวินิจฉัย หากพบรอยโรค แพทย์จะสามารถนำชิ้นเนื้อส่วนนั้นออกมาตรวจได้ทันที
- กรณีที่ตรวจพบติ่งเนื้อขนาดเล็ก แพทย์จะใช้เครื่องมือตัดติ่งเนื้อออกเพื่อทำการตรวจ และทำการรักษาได้ในเวลาเดียวกัน ซึ่งขั้นตอนทั้งหมดจะเสร็จสิ้นโดยใช้เวลาไม่นาน และผู้ป่วยจะไม่รู้สึกเจ็บในการตัดติ่งเนื้อ
ข้อดีของการส่องกล้องทางเดินอาหาร
การตรวจส่องกล้องทางเดินอาหารนั้นเป็นวิธีที่แม่นยำ ปลอดภัย และไม่มีแผล อีกทั้งยังใช้ระยะเวลาในการรักษาที่รวดเร็ว นอกจากนี้ยังมีข้อดีในด้านอื่น ๆ ดังนี้
- สามารถตรวจพบโรคในระยะเริ่มต้นและช่วยเพิ่มโอกาสในการรักษาให้หายขาดได้
- สามารถตัดเนื้องอกที่อาจมีความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงเป็นมะเร็งได้
- สามารถเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อเพื่อวิเคราะห์เพิ่มเติม
- กรณีที่สามารถรักษาผ่านกล้องได้จะช่วยลดความจำเป็นในการผ่าตัดแบบเปิด ลดการบาดเจ็บ และไม่ต้องใช้เวลาพักฟื้นนาน
- ตรวจหาสาเหตุของอาการผิดปกติ เช่น ปวดท้อง ท้องเสีย และท้องอืด เพื่อวิเคราะห์ภาวะของโรคได้แม่นยำมากขึ้น
การเตรียมตัวก่อนส่องกล้องทางเดินอาหาร
เพื่อผลในการตรวจวินิจฉัยที่แม่นยำ ผู้ป่วยต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์สำหรับการเตรียมตัวก่อนส่องกล้องตรวจระบบทางเดินอาหาร โดยส่วนใหญ่แล้วแพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยปฏิบัติดังนี้
ถอดฟันปลอมและเครื่องประดับก่อนเข้ารับการตรวจส่องกล้องทางเดินอาหาร
งดอาหารและน้ำอย่างน้อย 8 ชั่วโมง
ปรึกษาแพทย์กรณีที่ต้องรับประทานยาที่อาจส่งผลต่อการตรวจ เช่น ยาต้านการแข็งตัวของเลือด
ในกรณีส่องกล้องลำไส้ใหญ่ ต้องรับประทานยาระบายเพื่อทำความสะอาดลำไส้
สวมเสื้อผ้าที่หลวมและสบาย

อาการหลังส่องกล้องทางเดินอาหารที่ต้องระวัง
การตรวจระบบทางเดินอาหารด้วยวิธีส่องกล้องเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการตรวจวินิจฉัย และมีความปลอดภัยสูง แต่ในบางกรณีหลังเข้ารับการส่องกล้อง ผู้ป่วยอาจมีอาการดังต่อไปนี้
- แน่นท้อง หรือมีแก๊สสะสม เป็นอาการชั่วคราวที่พบบ่อย
- คลื่นไส้หรืออาเจียน เป็นอาการที่พบได้น้อย
- มีเลือดออกจากทางเดินอาหารจากการตัดชิ้นเนื้อที่มาจากแผลขนาดเล็ก และจะค่อย ๆ หยุดไหลไปได้เอง
- เจ็บบริเวณท้องน้อย หรือทวารหนัก แต่จะค่อย ๆ ทุเลาลงและหายได้เอง
- กรณีที่มีไข้สูง ปวดท้องมาก ควรรีบพบแพทย์ทันทีโดยไม่ต้องรอวันนัด
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการส่องกล้องทางเดินอาหาร
การส่องกล้องกระเพาะอาหารเจ็บไหม?
ตอบ : โดยทั่วไป การส่องกล้องกระเพาะอาหารจะไม่สร้างความรู้สึกที่เจ็บมาก เนื่องจากผู้ป่วยจะได้รับยาชาหรือยาสลบ แต่หลังจากตรวจอาจมีการเจ็บเล็กน้อยหรืออาจไม่มีเลย และผู้ป่วยต้องนอนพักเพื่อสังเกตอาการก่อนกลับบ้าน
หลังส่องกล้องสามารถทานอาหารได้เลยหรือไม่?
ตอบ : หลังการตรวจ หากไม่มีภาวะแทรกซ้อน ผู้ป่วยสามารถเริ่มรับประทานน้ำและอาหารอ่อนย่อยง่ายได้ทันที และในวันถัดไปสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ
การส่องกล้องมีผลข้างเคียงอะไรบ้าง?
ตอบ : ผลข้างเคียงที่อาจพบบ่อย คือ แน่นท้อง คลื่นไส้ หรือมีเลือดออกเล็กน้อยจากการเก็บชิ้นเนื้อ ซึ่งเป็นผลข้างเคียงที่จะค่อย ๆ ทุเลาและหายไปได้เอง
จำเป็นต้องตรวจส่องกล้องบ่อยแค่ไหน?
ตอบ : ขึ้นอยู่กับอาการและปัจจัยเสี่ยงของแต่ละบุคคล เช่น ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งทางเดินอาหาร หรือมีความผิดปกติในช่องท้องอยู่เป็นประจำ อาจต้องได้รับการตรวจตามคำแนะนำของแพทย์
ส่องกล้องทางเดินอาหาร โดยแพทย์เฉพาะทาง ที่ MSC Healthcare
สำหรับท่านที่มีความกังวลเกี่ยวกับโรคในระบบทางเดินอาหาร หรือเป็นกลุ่มเสี่ยง การตรวจส่องกล้องทางเดินอาหาร เป็นวิธีที่ช่วยให้ตรวจพบโรคได้เร็ว และในบางกรณีสามารถทำการรักษาต่อได้ทันทีโดยไม่ต้องผ่าตัดแบบเปิด ซึ่งเรื่องนี้ ที่ ศูนย์ผ่าตัดผ่านกล้อง MSC Healthcare มีทีมแพทย์เฉพาะทางผู้ชำนาญการ ยินดีให้คำปรึกษา และพร้อมให้บริการส่องกล้องทางเดินอาหารที่ปลอดภัย แม่นยำ เพื่อทำการรักษาอย่างเหมาะสมสำหรับผู้ป่วย สอบถามและทำนัดหมายฟรี ได้ที่ 065-509-4459 หรือ @msc.healthcare