โรคริดสีดวงทวารหนัก

ริดสีดวงเป็นโรคที่รบกวนการใช้ชีวิตของผู้ป่วยเป็นอย่างมาก เพราะไม่ใช่แค่เรื่องของความเจ็บปวดเท่านั้น แต่โรคนี้ยังมาพร้อมความกังวลใจ รู้สึกอาย ไม่มั่นใจที่จะพบแพทย์ และหลายคนกลัวว่าต้องผ่าตัดรักษาริดสีดวงเท่านั้น แต่ความจริงแล้วโรคนี้ไม่จำเป็นต้องผ่าตัดทุกกรณีเสมอไป วันนี้เราอยากชวนมาทำความรู้จักกับการสังเกตอาการและลักษณะริดสีดวง รวมถึงสาเหตุของการเกิดโรคนี้กัน

ทำความรู้จักกับ ‘ริดสีดวง’

ริดสีดวงทวาร (Hemorrhoids) เป็นภาวะที่เนื้อเยื่อในบริเวณปลายทวารหนักมีการเคลื่อนตัวต่ำลงมาจากตำแหน่งปกติ ซึ่งเนื้อเยื่อส่วนนี้ตามปกติแล้วจะมีความยืดหยุ่นเพื่อรองรับการเสียดสี ขยายและปิดรูทวารตามลักษณะการขับถ่าย แต่เมื่อมีการเคลื่อนตัวแล้วจะมองเห็นลักษณะริดสีดวงที่บวมหรือโป่งพองหลังจากขับถ่ายได้ชัดเจน ผู้ป่วยบางรายอาจมีเลือดออกและเจ็บปวดร่วมด้วย ซึ่งริดสีดวงนั้นสามารถเป็นได้ตั้งแต่จุดเดียวไปจนถึงหลายจุดพร้อมกัน

ประเภทของริดสีดวง

สำหรับริดสีดวงทวารนั้นจะแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทด้วยกัน คือ ริดสีดวงภายในและริดสีดวงภายนอก โดยนอกจากลักษณะริดสีดวงทั้งสองแบบนี้จะแตกต่างกันแล้ว ยังมีอาการที่แสดงออกแตกต่างกันด้วย

1. ริดสีดวงภายใน

ริดสีดวงภายใน (Internal Hemorrhoids) เป็นภาวะที่เนื้อเยื่อในตำแหน่งสูงกว่าหูรูดทวารหนักมีการโป่งพองเกิดขึ้น ซึ่งลักษณะของริดสีดวงภายในนั้นจะไม่สามารถมองเห็นหรือคลำสัมผัสได้ แต่ต้องตรวจด้วยวิธีส่องกล้องเท่านั้น แบ่งได้เป็น 4 ระยะ ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะไม่รู้สึกถึงความผิดปกติในช่วงระยะที่ 1-2 แต่เมื่อเข้าสู่ระยะที่ 3 จะเริ่มเห็นความผิดปกติได้ชัดเจนแต่ยังไม่มีความเจ็บปวด ทั้งนี้หากเข้าสู่ระยะที่ 3 แพทย์จะแนะนำให้รักษาริดสีดวงด้วยการผ่าตัด สำหรับอาการของโรคริดสีดวงภายในทั้ง 4 ระยะ มีดังนี้

ระยะของริดสีดวง
  • ระยะที่ 1 : มีเลือดออกให้เห็นหลังขับถ่ายเล็กน้อย ไม่รู้สึกเจ็บปวด และยังไม่มีหัวริดสีดวงโผล่ออกมาขณะขับถ่าย
  • ระยะที่ 2 : เริ่มมีหัวริดสีดวงโผล่ออกมาให้เห็นเล็กน้อย เมื่อขับถ่ายเสร็จก็จะยุบกลับเข้าไป
  • ระยะที่ 3 : หัวริดสีดวงจะโผล่ให้เห็นชัดเจนและไม่ยุบกลับเข้าไปหลังขับถ่าย แต่สามารถใช้นิ้วดันกลับเข้าไปได้
  • ระยะที่ 4 : ระยะนี้หัวริดสีดวงจะเห็นได้ชัดเจนและไม่สามารถดันกลับได้ อาจมีการอักเสบและบวมร่วมด้วย ระยะนี้จะสร้างปัญหาในการใช้ชีวิตเพราะไม่สามารถนั่งได้อย่างเป็นปกติ

2. ริดสีดวงภายนอก

ริดสีดวงภายนอก (External Hemorrhoids) เป็นภาวะที่มีก้อนเนื้ออยู่ที่บริเวณปากทวารหนักโดยที่ผู้ป่วยไม่สามารถดันกลับเข้าไปได้เอง ส่วนใหญ่แล้วริดสีดวงภายนอกจะมีอาการเจ็บร่วมด้วยแต่จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับขนาดของก้อนเนื้อ นอกจากจะมีผลต่อการขับถ่ายแล้วยังเป็นปัญหากับการใช้ชีวิตด้วย ทั้งนี้ส่วนใหญ่แล้วการรักษาริดสีดวงภายนอกหากไม่มีอาการเจ็บปวด หรือมีเลือดออกก็ไม่จำเป็นต้องผ่าตัด แต่หลังการรักษาแล้วก็ยังคงมีโอกาสที่จะกลับมาเป็นซ้ำได้อีก

สัญญาญอาการเตือนริดสีดวง

สัญญาณเตือนอาการริดสีดวง

เพื่อให้รู้เท่าทันโรคและรักษาริดสีดวงได้ตั้งแต่ระยะที่ไม่รุนแรง การสังเกตตัวเองเป็นเรื่องสำคัญเพราะโรคนี้ไม่ได้มาพร้อมความเจ็บปวดเสมอไป หากสงสัยว่ามีความเสี่ยงที่จะเป็นริดสีดวงให้ลองสังเกตอาการต่อไปนี้

  • ขณะขับถ่ายมีเลือดออกแต่ไม่มีอาการเจ็บปวด
  • เมื่อขับถ่ายเสร็จ สังเกตเห็นติ่งเนื้อหรือหัวริดสีดวงโผล่ออกมา
  • คันรอบบริเวณปากทวารหนัก
  • เจ็บหรือปวดบริเวณทวารหนัก
  • ไม่สามารถดันก้อนหรือติ่งเนื้อกลับเข้าไปได้

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดริดสีดวง

สำหรับการเกิดริดสีดวงทวารหนักนั้นสามารถเกิดได้กับทุกคนและเป็นได้จากหลายสาเหตุ แต่มักจะมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันของเราเอง โดยปัจจัยเสี่ยงของการเกิดริดสีดวงทวารมีดังนี้

  • ท้องเสีย ถ่ายบ่อย
  • เบ่งการขับถ่ายเป็นประจำ
  • นั่งขับถ่ายเป็นเวลานาน เช่น การเล่นโทรศัพท์ หรืออ่านหนังสือ
  • ใช้ยาสวน ยาระบาย เป็นประจำ
  • มีภาวะท้องผูกเรื้อรัง
  • รับประทานอาหารรสจัดและเนื้อสัตว์มื้อหนักเป็นประจำ
  • ดื่มน้ำน้อย
  • อยู่ในช่วงตั้งครรภ์
  • มีภาวะของโรคตับแข็ง
  • การหย่อนยานของกล้ามเนื้อจากอายุที่เพิ่มมากขึ้น

เมื่อไหร่ที่ควรพบแพทย์?

แม้ว่าริดสีดวงทวารจะเป็นโรคที่ไม่ได้มาพร้อมกับความเจ็บปวดในทุกคน แต่ก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ เพราะอาการของโรคมีความใกล้เคียงกับอีกหลายโรค เช่น โรคติดเชื้อราหรือแบคทีเรีย โรคมะเร็งทวารหนัก และโรคมะเร็งลำไส้ ดังนั้นหากสังเกตเห็นว่ามีเลือดออกขณะขับถ่าย เริ่มรู้สึกว่าการใช้ชีวิตลำบากมากขึ้น มีอาการเจ็บและปวด รวมถึงการที่ต้องคอยดันติ่งเนื้อกลับเข้าไปเป็นประจำ แนะนำให้พบแพทย์เพื่อรักษาริดสีดวงอย่างเหมาะสมจะดีที่สุด

การรักษาโรคริดสีดวงทวารหนัก

เมื่อวินิจฉัยจนแน่ใจแล้วว่าผู้ป่วยเป็นริดสีดวงและมีอาการที่รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน แพทย์จะเลือกแนวทางการรักษาให้เหมาะสมกับลักษณะริดสีดวงของแต่ละคน โดยผู้ป่วยหลายคนกังวลว่าเป็นริดสีดวงรักษายังไงต้องผ่าตัดหรือไม่ ซึ่งก็ต้องบอกว่าการรักษานั้นสามารถทำได้ตั้งแต่วิธีที่ไม่ต้องผ่าตัดและการผ่าตัดเพื่อรักษาตามรายละเอียดต่อไปนี้

1. การรักษาโดยไม่ผ่าตัด

วิธีรักษาริดสีดวงโดยไม่ผ่าตัดนั้นทำได้ 2 วิธีคือ การสอดยาเหน็บเพื่อลดการอักเสบเมื่อใช้แล้วจะช่วยลดบวมแดง และแสบร้อนบริเวณที่เป็นริดสีดวง แต่ไม่เหมาะที่จะใช้ต่อเนื่องเป็นเวลานานเกิน 7 วัน และควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งก่อนการใช้ยา นอกจากการใช้ยาเหน็บแล้วยังวิธีรัดยางเพื่อรักษาได้ โดยแพทย์จะใช้ยางชนิดพิเศษที่มีความยืดหยุ่นสูงรัดบริเวณฐานของติ่งริดสีดวงทวารเพื่อไม่ให้เลือดไปหล่อเลี้ยง ทำให้ริดสีดวงฝ่อและหลุดออกไปเองตามธรรมชาติ

2. การรักษาด้วยวิธีผ่าตัด

วิธีรักษาริดสีดวงที่ได้ผลเร็วและลดปัญหาการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้อย่างเห็นผลมากที่สุด โดยการผ่าตัดรักษาริดสีดวงในปัจจุบันแบ่งเป็น 2 วิธี คือ

  • การผ่าตัดแบบดั้งเดิม เป็นวิธีผ่าตัดริดสีดวงทวารที่ใช้รักษาได้กับทุกประเภท โดยแพทย์ผ่าตัดจะผ่าเอาก้อนเนื้อออกแล้วเย็บปิดปากแผล แม้ว่าเป็นการผ่าตัดแต่ก็ใช้เวลาไม่นาน แต่มีข้อเสียตรงที่ต้องใช้การพักฟื้นประมาณ 1-2 สัปดาห์ถึงจะกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ
รักษาริดสีดวงด้วยการผ่าตัดเลเซอร์
  • การผ่าตัดด้วยเลเซอร์ เป็นเทคนิคที่ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยและอาศัยความเชี่ยวชาญของแพทย์ในการรักษา โดยการรักษาจะใช้เลเซอร์เข้าไปทำลายริดสีดวงทำให้รอยแผลมีขนาดเล็ก และไม่ต้องเย็บแผลหลังผ่าตัด ผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บเล็กน้อย และสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติโดยไม่ต้องพักฟื้นนาน

ริดสีดวงทวาร โรคที่ปล่อยไว้นานยิ่งรบกวนการใช้ชีวิต

ริดสีดวงทวารเป็นอีกหนึ่งโรคใกล้ตัวที่สามารถเกิดขึ้นได้จากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน ดังนั้น เพื่อลดความเสี่ยงของโรคควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เป็นสาเหตุ การรับประทานอาหารที่หลากหลายและเสริมประสิทธิภาพในการขับถ่าย รวมทั้งการสังเกตความผิดปกติของร่างกายที่อาจเป็นสัญญาณเตือนของความเจ็บป่วยได้ ทั้งนี้หากสงสัยว่ามีอาการของโรคร่วมกับความรู้สึกเจ็บปวดจนไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ ควรรีบพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรักษาริดสีดวงก่อนที่จะลุกลามไปสู่ภาวะรุนแรงมากขึ้นจนส่งผลเสียต่อสุขภาพในด้านอื่น ๆ ได้