
โรคไส้เลื่อนขาหนีบ (Inguinal Hernia) หนึ่งในโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศและทุกวัย อีกทั้งโรคนี้ยังเป็นได้โดยไม่รู้ตัว เพราะกว่าจะรู้บางคนมีอาการปวดบริเวณขาหนีบจนต้องพบแพทย์เพื่อวินิจฉัย หรือคลำเจอก้อน อีกทั้งภาพจำของโรคนี้สำหรับหลาย ๆ คนยังรู้สึกว่าน่าอายที่จะพูดถึงด้วยทำให้ถูกละเลยในการดูแลตัวเอง แต่โรคไส้เลื่อนเมื่อเป็นแล้ว สามารถรักษาให้หายขาดได้หรือไม่ และมีวิธีรักษาไส้เลื่อนโดยไม่ต้องผ่าตัดได้หรือไม่ ในบทความนี้เรามีคำตอบ
โรคไส้เลื่อน คืออะไร?
ไส้เลื่อน คือ ภาวะที่มีอวัยวะภายในบางส่วนในบริเวณช่องท้องเคลื่อนตัวจากตำแหน่งเดิมไปยังตำแหน่งอื่น โดยเคลื่อนผ่านผนังหน้าท้องที่เริ่มมีความอ่อนแอหย่อนยาน ตำแหน่งที่พบบ่อยเมื่อเกิดภาวะไส้เลื่อนนั้นมีอยู่ 4 จุดด้วยกัน คือ
- ขาหนีบ : เป็นตำแหน่งที่พบได้มากที่สุด และคนไข้ส่วนใหญ่มักพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง อาจมีภาวะไส้เลื่อนไปอยู่ที่บริเวณต้นขา หรือถุงอัณฑะร่วมด้วยได้
- ช่องเชิงกราน : โรคไส้เลื่อนในช่องเชิงกรานพบได้ในผู้หญิง เกิดจากการที่ลำไส้เคลื่อนตัวไปในรูบริเวณกระดูกเชิงกราน
- สะดือ : เป็นภาวะที่ผนังหน้าท้องใต้ชั้นผิวหนังปิดไม่สนิท ทำให้ลำไส้บางส่วนเคลื่อนตัวมาอยู่ที่บริเวณสะดือ
- รอยแผลผ่าตัด : ตำแหน่งนี้เกิดขึ้นได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง แต่จะเป็นภาวะที่เกิดหลังจากที่ผู้ป่วยเคยได้รับการผ่าตัดบริเวณหน้าท้องมาแล้ว ทำให้กล้ามเนื้อหน้าท้องอ่อนแอจนทำให้บางส่วนของลำไส้เคลื่อนตัวไปบริเวณนั้น

ภาวะไส้เลื่อนแสดงอาการอย่างไร?
โรคไส้เลื่อนมักไม่แสดงอาการชัดเจนในช่วงแรก บางรายอาจไม่มีอาการใด ๆ ขณะที่บางรายแสดงอาการที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิต การสังเกตอาการตั้งแต่เนิ่น ๆ เป็นสิ่งสำคัญเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น
- คลำเจอก้อนลักษณะนูนตุงผิวหนังในบริเวณที่มีไส้เลื่อน
- ปวดเวลาก้มตัว เวลาไอ และเมื่อยกของหนัก
- แน่นท้อง เจ็บแสบร้อนบริเวณหน้าท้อง
- ท้องผูก
- อาเจียน
ทั้งนี้อาการของแต่ละคนอาจแตกต่างกันไปตามระดับความรุนแรงและตำแหน่งของโรคไส้เลื่อน แต่หากมีอาการปวดเฉียบพลันอย่างรุนแรง มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดภาวะลำไส้ขาดเลือด ซึ่งต้องรีบรักษาไส้เลื่อนเป็นการด่วนเพราะอาจติดเชื้อจนเกิดอันตรายได้
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคไส้เลื่อน
โรคไส้เลื่อนเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัยและเกิดได้กับทุกเพศทุกวัย ซึ่งบางปัจจัยเสี่ยงส่วนใหญ่มาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต อายุที่เพิ่มมากขึ้นและโรคประจำตัวบางอย่างด้วย สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่พบบ่อยของโรคไส้เลื่อนมีดังนี้
- คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์
- ผู้ที่มีภาวะท้องผูกเป็นเวลานาน
- สูบบุหรี่จัด
- โรคหอบหืด
- อ้วนหรือมีน้ำหนักเกินเกณฑ์ปกติ
- ความดันในช่องท้อง
- ภาวะต่อมลูกหมากโต
- โรคตับแข็ง
- เบ่งการขับถ่ายเป็นประจำ
- ไอเรื้อรัง
- ยกของหนักเป็นประจำ
- น้ำในช่องท้องเยอะผิดปกติ

วิธีรักษาด้วยการผ่าตัด
โรคไส้เลื่อนรักษายังไงได้บ้าง? ซึ่งก็ต้องบอกว่าการรักษาที่ให้ผลลัพธ์ได้ดีและมีประสิทธิภาพมากที่สุดคือการผ่าตัดเท่านั้น ทั้งนี้ในปัจจุบันสามารถเลือกผ่าตัดรักษาไส้เลื่อนได้ 2 วิธีด้วยกัน คือ
1. การผ่าตัดแบบเปิด
วิธีรักษาไส้เลื่อนแบบเปิดนั้นเป็นวิธีรักษาที่แพทย์จะทำการผ่าตัดเปิดหน้าท้องที่มีความยาวรอยแผลประมาณ 3-4 นิ้ว เพื่อดันลำไส้กลับเข้าไปในช่องท้อง พร้อมทั้งเย็บซ่อมแซมผนังช่องท้องที่เป็นช่องทางเคลื่อนตัวของลำไส้ ซึ่งวิธีนี้แพทย์อาจเลือกใช้การดมยาสลบหรือฉีดยาชาให้กับคนไข้ได้ตามความเหมาะสม และเมื่อการผ่าตัดเสร็จสิ้นผู้ป่วยจะต้องทำการพักฟื้นประมาณ 4-6 สัปดาห์ ก่อนจะกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ
2. การผ่าตัดส่องกล้อง
เป็นวิธีรักษาไส้เลื่อนที่ต้องใช้อุปกรณ์ผ่าตัดที่ทันสมัยกับความเชี่ยวชาญของแพทย์ โดยจะใช้วิธีผ่าตัดเพื่อสอดอุปกรณ์สำหรับใส่เครื่องมือผ่าตัด และกล้องเข้าไป ซึ่งแพทย์จะทำการดันลำไส้กลับเข้าตำแหน่งเดิม และเย็บซ่อมแซมผนังช่องท้องเพื่อไม่ให้เกิดภาวะไส้เลื่อนซ้ำในอนาคต ข้อดีของเทคนิคผ่าตัดส่องกล้องคือผู้ป่วยจะมีความรู้สึกเจ็บน้อยกว่าการผ่าตัดแบบเปิด ช่วยลดระยะเวลาการฟื้นตัวผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้รวดเร็วกว่า
- การผ่าตัดแบบส่องกล้องแบบธรรมดา
การผ่าตัดส่องกล้องแบบธรรมดา (Laparoscopic Hernia Repair) เป็นวิธีการผ่าตัดที่แพทย์จะใช้เครื่องมือส่องกล้องเข้าไปภายในช่องท้อง ทำให้มองเห็นบริเวณที่มีไส้เลื่อนและต้องทำการผ่าตัด ข้อดีของการผ่าตัดด้วยวิธีนี้คือการคนไข้มีอาการบาดเจ็บน้อย ไม่เกิดแผลขนาดใหญ่ที่หน้าท้อง ส่วนใหญ่แล้วมีแผลจำนวน 5 รู ขนาดประมาณ 0.5 – 1 เซนติเมตร การผ่าตัดแบบส่องกล้องยังเป็นวิธีที่เสียเลือดน้อยและฟื้นตัวได้เร็วด้วย
- การผ่าตัดส่องกล้องแบบรูเดียว
เทคนิคผ่าตัดแบบซ่อนแผล หรือผ่าตัดรูเดียว (Single-Port Laparoscopic Hernia Repair) เป็นเทคนิคการผ่าตัดโดยใช้อุปกรณ์ผ่าตัดเข้าทางรูสะดือเพียงตำแหน่งเดียว มีข้อดีคือเมื่อทำการผ่าตัดรักษาแล้วรูสะดือจะสามารถม้วนซ่อนแผลทำให้เป็นไปได้น้อยมากที่จะมองเห็นแผลผ่าตัด นอกจากนี้ยังเป็นวิธีที่ช่วยให้คนไข้บาดเจ็บน้อยและฟื้นตัวได้เร็วกว่าการผ่าตัดด้วยวิธีอื่น
การดูแลตัวเองหลังผ่าตัดไส้เลื่อน
แม้ว่าการผ่าตัดแบบส่องกล้องทั้ง 2 วิธีจะมีอาการบาดเจ็บน้อย แต่เพื่อให้ฟื้นตัวได้เร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น คนไข้สามารถดูแลตัวเองหลังผ่าตัดไส้เลื่อนได้ด้วยวิธีต่อไปนี้
- ทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างผักและผลไม้เพื่อกระตุ้นให้เกิดการสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกาย รวมถึงอาหารที่มีโปรตีนสูงยังช่วงในเรื่องการฟื้นตัวได้เร็วขึ้นด้วย
- เลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่ เพราะมีผลทำให้แผลผ่าตัดหายช้าและเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสแผลผ่าตัด และเปลี่ยนผ้าปิดแผลผ่าตัดตามคำแนะนำของแพทย์อยู่เสมอ
- หลีกเลี่ยงการออกแรง หรือการออกกำลังกายหนัก ๆ เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดอาการเจ็บปวด
- หากพบว่าบริเวณแผลผ่าตัดบวมแดง เจ็บปวด หรือมีไข้ร่วมด้วย ควรรีบพบแพทย์ทันที
การผ่าตัดไส้เลื่อนนั้นไม่น่ากลัวและไม่ได้เจ็บปวดอย่างที่หลายคนคิด โดยเฉพาะการผ่าตัดแบบซ่อนแผลที่คนไข้สามารถฟื้นตัวได้เร็ว บาดเจ็บน้อย และยังไม่ทิ้งรอยแผลผ่าตัดไว้กวนใจ รู้อย่างนี้แล้วใครที่สงสัยว่าตัวเองมีความเสี่ยงเป็นไส้เลื่อนก็ไม่ต้องกังวลจนเกินไป แล้วลองมาพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยเพื่อหาแนวทางการรักษากันดีกว่า