บอลลูนกระเพาะอาหาร

การใส่บอลลูนกระเพาะอาหาร เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่กำลังได้รับความนิยมสำหรับผู้ที่ต้องการลดน้ำหนัก และผู้ที่มีภาวะอ้วน หรือน้ำหนักเกิน เพื่อให้สรีระที่สมส่วนกลับคืนมา ในบทความนี้เรามีข้อมูลเกี่ยวกับการใส่บอลลูนในกระเพาะอาหาร พร้อมทั้งข้อดีข้อเสียมาให้เป็นแนวทางเพื่อช่วยประกอบการตัดสินใจได้ง่ายยิ่งขึ้น

บอลลูนกระเพาะอาหาร คืออะไร?

การใส่บอลลูนกระเพาะอาหาร (Gastric Balloon) คือการใส่บอลลูนเข้าไปในกระเพาะอาหารโดยที่ภายในบอลลูนจะใส่น้ำเกลือ เพื่อขยายขนาดบอลลูนและลดพื้นที่ภายในกระเพาะอาหาร แม้ว่าจะเป็นการใส่เข้าไปภายในกระเพาะอาหารโดยตรงแต่เป็นวิธีที่ไม่ต้องผ่าตัด เพราะแพทย์จะใส่บอลลูนผ่านการสอดกล้องคล้ายกับวิธีส่องกล้องตรวจระบบทางเดินอาหาร และเมื่อภายในกระเพาะอาหารมีบอลลูนแล้ว ผู้ป่วยจะรู้สึกอิ่มได้ง่ายทำให้ทานอาหารได้น้อยลง โดยทั่วไปแล้วจะใส่บอลลูนในระยะเวลา 6 เดือน และ 1 ปีแล้วนำออก แต่หากระหว่างนั้นน้ำหนักลดได้ตามเป้าหมายแล้วผู้ป่วยสามารถให้แพทย์เอาบอลลูนออกก่อนได้

ใครที่เหมาะกับการทำบอลลูนกระเพาะอาหาร?

แม้ว่าวิธีใส่บอลลูนจะเป็นวิธีที่ช่วยลดน้ำหนักได้จริง แต่ก็ไม่ได้เหมาะสำหรับทุกคน เพราะแพทย์จะพิจารณาตามความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละคนด้วย โดยผู้ที่เหมาะสำหรับการทำบอลลูนกระเพาะอาหาร คือ

  • ผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกิน หรือค่า BMI มากกว่า 27 และคนที่มีความตั้งใจในการควบคุมอาหารและตั้งใจลดน้ำหนัก
  • ผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกินร่วมกับอาการเข่าเสื่อม ปวดข้อเข่า
  • ผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกินร่วมกับการเจ็บป่วยด้วยโรคเบาหวาน
  • ผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกินค่ามาตรฐานจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต

ใครที่ไม่เหมาะต่อการใส่บอลลูนกระเพาะอาหาร?

สำหรับผู้ที่มีภาวะน้ำหนักตัวเกิน หรือมีความเสี่ยงต่อโรคที่มาจากภาวะอ้วนการทำบอลลูนลดน้ำหนักจะช่วยลดความเสี่ยงของโรคและกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพอีกครั้ง ทั้งนี้ก็มีกลุ่มที่ไม่เหมาะต่อการใส่บอลลูนกระเพาะอาหารด้วยเหมือนกัน ดังนี้

  • ผู้ที่มีความผิดปกติในทางเดินอาหาร เช่น ตีบตัน รั่ว หรือมีภาวะอื่น ๆ ในหลอดอาหารจนไม่สามารถส่องกล้องหรือใส่บอลลูนได้
  • ผู้ที่มีแผลในกระเพาะ ตกเลือดในกระเพาะ และมีภาวะกรดไหลย้อนในระยะที่รุนแรง
  • สตรีที่กำลังตั้งครรภ์ หรือมีแผนตั้งครรภ์ภายในระยะเวลา 1 ปี

ข้อดีของการใส่บอลลูนในกระเพาะอาหาร

วิธีใส่บอลลูนเข้าไปในกระเพาะอาหารนั้นเป็นวิธีที่ไม่เพียงแค่ช่วยในเรื่องของการลดน้ำหนักให้กับผู้ป่วยเท่านั้น แต่เมื่อน้ำหนักตัวลดลงสุขภาพที่ดีก็จะตามมา ช่วยลดความเสี่ยงจากความเจ็บป่วยของโรคต่าง ๆ ได้มากขึ้น อีกทั้งการลดน้ำหนักด้วยการใส่บอลลูนกระเพาะอาหารนั้นใช้เวลา 1 ปีก่อนจะนำบอลลูนออก ทำให้มีกำหนดระยะเวลาในการลดน้ำหนักที่แน่นอนและให้ผลลัพธ์ได้เร็ว นอกจากนี้ยังมีข้อดีในด้านอื่น ๆ ด้วย เช่น

  • ไม่ต้องผ่าตัด ไม่มีรอยแผลเป็น และไม่เจ็บปวด
  • ไม่ต้องใช้ยาลดน้ำหนัก
  • บอลลูนในกระเพาะอาหารช่วยให้รู้สึกอิ่มเร็ว ทำให้รู้สึกหิวน้อยลง
  • ได้ผลลัพธ์ในการลดน้ำหนักจริงและมีความปลอดภัยสูง
  • แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะให้คำแนะนำในการดูแลตัวเอง และติดตามตลอดการรักษาจนกว่าจะครบ 6 เดือนและ 1 ปี
  • ได้สุขภาพและรูปร่างที่ดีกลับคืนมา เพิ่มความมั่นใจให้ตัวเอง
  • ตลอดระยะเวลาที่ใส่บอลลูนพฤติกรรมการทานอาหารจะเปลี่ยนไป ทำให้เกิดความเคยชินที่แม้ว่านำบอลลูนออกแล้วก็ยังคงทานอาหารในปริมาณความอิ่มเท่าเดิมได้
  • โดยเฉลี่ยแล้วผู้ที่ใส่บอลลูนกระเพาะอาหารน้ำหนักลดลงเฉลี่ย 10-15% ของน้ำหนักตัวเริ่มต้น

ผลข้างเคียงของการใส่บอลลูนกระเพาะอาหาร

นอกจากข้อดีของการใส่บอลลูนในกระเพาะอาหารแล้ว ผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกินอาจต้องพิจารณาเพิ่มเติมจากผลข้างเคียงของบอลลูนลดน้ำหนักเพิ่มเติมด้วย ทั้งนี้ผลข้างเคียงต่อไปนี้อาจเกิดขึ้นได้กับบางคนและไม่ใช่ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นในระยะยาว

  • ช่วง 1-2 สัปดาห์แรกอาจมีอาการคลื่นไส้ แน่นท้อง ท้องอืด หรือเบื่ออาหารร่วมด้วย
  • ผู้ป่วยบางรายอาจมีเลือดออกในกระเพาะอาหาร
  • ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการกระเพาะอาหารปริ หรือลำไส้อุดตันร่วมด้วยได้
การดูแลตัวเองหลังใส่บอลลูนกระเพาะอาหาร

การดูแลตัวเองหลังใส่บอลลูนกระเพาะอาหาร

สำหรับผู้ที่ใส่บอลลูนกระเพาะอาหารแล้วนอกจากภาวะที่รู้สึกอยากอาหารน้อยลง อิ่มเร็วขึ้น เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีต้องมีการดูแลตัวเองอย่างเหมาะสมควบคู่ไปด้วย เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการลดน้ำหนักได้มากที่สุด โดยคำแนะนำหลังจากใส่บอลลูนกระเพาะอาหารสามารถปฏิบัติได้ ดังนี้

1. งดการดื่มของเหลวปริมาณมาก

ผู้ป่วยสามารถดื่มน้ำได้ตามปกติ แต่ไม่ควรดื่มในปริมาณมากจนเกินไปหากเป็นไปได้ในช่วงแรกควรดื่มน้ำเปล่าไปก่อน โดยดื่มประมาณครึ่งแก้วทุก ๆ 1-2 ชั่วโมงแทนการดื่มหมดแก้วในครั้งเดียว หรือเปลี่ยนเป็นจิบน้ำครั้งละเล็กน้อยแต่ทำตลอดวันแทน

2. รับประทานยาตามแพทย์สั่ง

เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร แพทย์จะให้ยากันแผลในกระเพาะกับผู้ป่วยเพื่อรับประทานอย่างต่อเนื่องแม้ว่าจะไม่มีอาการก็ตาม ซึ่งนอกจากจะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดแผลแล้ว ยังช่วยยืดอายุการใช้งานของบอลลูนด้วย

3. งดดื่มแอลกอฮอล์

เครื่องดื่มในกลุ่มแอลกอฮอล์สามารถกระตุ้นให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ ควรงดการดื่มตลอดระยะเวลาที่ใส่บอลลูนกระเพาะอาหาร 

4. ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

ระหว่างที่ใส่บอลลูนกระเพาะอาหารจะรู้สึกอิ่มเร็ว ทานอาหารได้น้อยลง ผู้ป่วยบางรายอาจได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการทานอาหารให้มีความหลากหลายมากขึ้น เช่น เสริมเรื่องของวิตามินจากผักและผลไม้ การเลือกทานเนื้อสัตว์เพื่อเสริมโปรตีน รวมถึงการเลือกทานอาหารที่ย่อยง่ายในช่วงแรกของการใส่บอลลูน

5. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

การออกกำลังกายจะช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อให้กับผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสม ทำให้เมื่อน้ำหนักลดลงแล้วยังได้รูปร่างที่กระชับ ไม่เกิดส่วนที่หย่อนยาน แต่การออกกำลังกายนั้นควรทำอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ แม้ว่าจะผ่านช่วงที่ต้องนำบอลลูนออกไปแล้วก็ตาม

6. งดทานยากลุ่มกัดกระเพาะ

งดทานกลุ่มยาต้านการอักเสบ (NSAIDs) หรือยาสเตียรอยด์ในระหว่างใส่บอลลูนกระเพาะอาหาร เพื่อป้องกันการเกิดแผลเป็นในกระเพาะอาหาร

บอลลูนกระเพาะอาหาร ตัวช่วยลดน้ำหนักที่ช่วยคืนสุขภาพดีให้กับผู้ป่วย

สรุปได้ว่า การใส่บอลลูนกระเพาะอาหารเป็นวิธีที่ช่วยลดน้ำหนักให้กับผู้ที่มีปัญหาเรื่องสุขภาพจากภาวะน้ำหนักเกินจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งจากข้อมูลทั้งหมดเห็นได้ว่าวิธีใส่บอลลูนนั้นเป็นวิธีที่มีความปลอดภัยสูง และให้ผลลัพธ์ได้ดีภายในเวลา 1 ปี อย่างไรก็ตามผู้ที่ต้องเข้ารับการใส่บอลลูนก็อย่าลืมให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะนำบอลลูนออกไปแล้ว รวมถึงการพบแพทย์เพื่อติดตามผลอย่างต่อเนื่องเพื่อรับคำแนะนำเรื่องโภชนาการที่เหมาะสม พร้อมกับผลลัพธ์ในการลดน้ำหนักอย่างมีประสิทธิภาพได้ในระยะยาว