
ระบบทางเดินอาหารส่วนสำคัญของร่างกายที่ช่วยให้กระบวนการลำเลียงอาหารเป็นไปอย่างราบรื่น แต่เมื่อระบบทางเดินอาหารเริ่มมีความผิดปกติเกิดขึ้น ร่างกายจะเริ่มส่งสัญญาณเตือนเพื่อบอกให้ทราบว่ามีสิ่งใดสิ่งหนึ่งในระบบทางเดินอาหารที่ต้องได้รับการรักษาเป็นการด่วน ซึ่งวิธีการส่องกล้องระบบทางเดินอาหารเป็นหนึ่งในวิธีที่ช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคได้แม่นยำและเลือกวิธีรักษา เช่น การผ่าตัดส่องกล้อง หรือการผ่าตัดเปิดหน้าท้องให้กับผู้ป่วยได้เหมาะสมและเกิดประสิทธิภาพได้มากที่สุด
ส่องกล้องระบบทางเดินอาหาร คืออะไร?
ก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการรักษาอย่างการผ่าตัดส่องกล้องหรือผ่าตัดผ่านกล้องนั้น ผู้ป่วยจำเป็นต้องผ่านขั้นตอนของการวินิจฉัยต้นตอของโรคเกี่ยวกับทางเดินอาหารก่อน โดยการวินิจฉัยนั้นแพทย์จะใช้กล้องขนาดเล็กที่มีความยาวสอดเข้าไปทางช่องปาก หรือทางทวารหนักเพื่อตรวจดูว่ามีส่วนไหนในระบบทางเดินอาหารที่มีความผิดปกติเกิดขึ้น ทั้งนี้ในการส่องกล้องระบบทางเดินอาหารนั้นจะแบ่งการตรวจได้ 2 แบบ ดังนี้

1. ส่องกล้องตรวจหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กส่วนบน (EGD)
การส่องกล้องที่มีท่อขนาดเล็กที่ปรับรูปแบบให้โค้งงอสำหรับสอดเข้าไปทางช่องปาก เพื่อให้กล้องแสดงภาพตั้งแต่หลอดอาหารลงไปในกระเพาะอาหารจนถึงลำไส้เล็กส่วนต้น โดยการส่องกล้องในลักษณะนี้ส่วนใหญ่แล้วเป็นวิธีตรวจวินิจฉัยโรคเกี่ยวกับหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้เล็ก หากมีความผิดปกติเล็กน้อยอาจยังไม่จำเป็นต้องผ่าตัดเปิดหน้าท้องเพื่อรักษา
2. ส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy)
การส่องกล้องที่ใช้ท่อขนาดเล็กปรับเปลี่ยนลักษณะที่โค้งงอได้สอดเข้าทางทวารหนัก เพื่อตรวจดูลำไส้ใหญ่ตั้งแต่ส่วนปลายไปจนถึงส่วนต้น รวมถึงตำแหน่งของลำไส้เล็กส่วนปลายด้วย สำหรับการตรวจส่องกล้องลำไส้ใหญ่จะช่วยให้แพทย์วินิจฉัยโรคเกี่ยวกับลำไส้อักเสบ ริดสีดวงทวาร และเนื้องอกในลำไส้ใหญ่ได้
อาการแบบไหนควรพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยด้วยการส่องกล้อง?

เพื่อให้แน่ใจว่ากำลังมีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยในระบบทางเดินอาหาร การเช็กสุขภาพเบื้องต้นจากอาการความผิดปกติที่เกิดขึ้นจะช่วยให้มั่นใจได้มากขึ้นว่าถึงเวลาที่ต้องพบแพทย์เพื่อส่องกล้องระบบทางเดินอาหารหรือไม่ หากสังเกตพบว่ามีอาการต่อไปนี้ให้รีบปรึกษาแพทย์เพื่อเข้ารับการวินิจฉัยรักษาทันที
- ปวดแสบท้อง จุกแน่นลิ้นปี่เป็นประจำ
- ปวดแสบท้องและอาการไม่ดีขึ้นแม้ว่าได้รับประทานยาแล้ว
- ปวดแสบท้องร่วมกับมีประวัติคนในครอบครัวเคยเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร
- ขับถ่ายมีเลือดปน ถ่ายมีสีดำ ร่วมกับน้ำหนักตัวลดลงอย่างรวดเร็ว
- ท้องผูกสลับกับท้องเสีย
- ขับถ่ายยาก หรือถ่ายเป็นเม็ดเล็กเป็นประจำ
- ปวดเบ่งเวลาขับถ่าย
- อ่อนเพลียหรือซีดไม่รู้สาเหตุ
- คลำพบก้อนในท้อง
- มีประวัติคนในครอบครัวป่วยเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่
การเตรียมตัวก่อนส่องกล้องระบบทางเดินอาหาร
สำหรับผู้ป่วยที่แพทย์วินิจฉัยแล้วว่าจำเป็นต้องเข้ารับการส่องกล้องเพื่อตรวจหาความผิดปกติที่เกิดขึ้นภายในร่างกาย ก่อนเข้ารับการตรวจจำเป็นต้องเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการส่องกล้อง ดังนี้
- งดน้ำและอาหารไม่น้อยกว่า 6-8 ชั่วโมง ก่อนเข้ารับการตรวจ
- พักผ่อนให้เพียงพอก่อนวันตรวจส่องกล้อง
- กรณีที่มีฟันปลอมแบบถอดได้ต้องถอดออก
- แจ้งโรคประจำตัว ประวัติการแพ้ยาและประวัติการผ่าตัด
- กรณีที่เป็นการตรวจลำไส้ใหญ่ จะต้องมีการเคลียร์ลำไส้ให้สะอาดเพื่อให้แพทย์มองเห็นความผิดปกติได้ชัดเจน
- หลังเข้ารับการตรวจผู้ป่วยอาจมีอาการง่วงซึมและอ่อนเพลียจากยาชาได้ ไม่ควรขับรถกลับเองและถ้าเป็นไปได้ควรมีญาติมาด้วย
อาการที่อาจเกิดขึ้นหลังส่องกล้อง
หลังจากที่เข้ารับการส่องกล้องเรียบร้อยแล้ว แพทย์จะวินิจฉัยหาแนวทางในการรักษาให้กับผู้ป่วยว่ามีความจำเป็นต้องผ่าตัดหรือไม่ ซึ่งปัจจุบันสามารถเลือกวิธีผ่าตัดผ่านกล้องหรือผ่าตัดเปิดหน้าท้องตามความรุนแรงของโรค ทั้งนี้หลังจากเข้ารับการตรวจด้วยระบบทางเดินอาหารด้วยวิธีส่องกล้องแล้ว ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการต่อไปนี้
- อาจมีเลือดออกภายในจากการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจ แต่เป็นการตัดชิ้นเนื้อขนาดเล็กซึ่งเลือดจะค่อย ๆ หยุดไหลไปได้เอง
- อาจมีอาการเจ็บท้องน้อย หรือบริเวณทวารหนักจากการส่องกล้อง แต่ก็เป็นอาการที่หายได้เอง
- อาจมีอาการอึดอัดแน่นท้อง แต่จะค่อย ๆ ดีขึ้น
- กรณีที่ปวดท้องมาก ท้องแข็ง หรือมีไข้สูงร่วมด้วย ให้รีบพบแพทย์ทันที

ส่องกล้องระบบทางเดินอาหาร วิธีตรวจโรคที่ช่วยให้รู้ได้เร็ว
เรียกได้ว่าการส่องกล้องระบบทางเดินอาหารนั้นเป็นวิธีวินิจฉัยโรคที่มีความปลอดภัยสูง และมีประสิทธิภาพในการระบุความผิดปกติภายในร่างกายได้แม่นยำ ใช้เวลารวดเร็วในการตรวจ หากใครที่รู้สึกถึงความผิดปกติในร่างกาย หรือมีคนในครอบครัวเคยมีประวัติเจ็บป่วยมาก่อน แนะนำให้พบแพทย์เพื่อทำการตรวจตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อให้ทราบถึงแนวทางการดูแลตัวเอง หรือทำการรักษาด้วยวิธีผ่าตัดส่องกล้องได้ทันท่วงทีก่อนที่จะเข้าสู่ระยะลุกลามของโรคที่เป็นอันตรายต่อไป