ผ่าตัดกระเพาะลดน้ำหนัก

การผ่าตัดกระเพาะอาหารเป็นทางเลือกหนึ่งในการรักษาภาวะโรคอ้วน โดยเฉพาะในผู้ที่ลดน้ำหนักด้วยวิธีทั่วไปแล้วยังไม่ประสบผลสำเร็จ แต่หลายคนอาจลังเลเกี่ยวกับการรักษาด้วยวิธีผ่าตัดกระเพาะ เพราะยังไม่ทราบถึงผลข้างเคียง โดยเฉพาะผลกระทบในระยะสั้นและระยะยาวที่อาจเกิดขึ้นหลังผ่าตัด ใครที่มีภาวะอ้วน และต้องรับการรักษาด้วยวิธีผ่าตัดกระเพาะลดน้ำหนัก บทความนี้มีข้อดี-ข้อเสียมาเป็นข้อมูลเพื่อพิจารณาประกอบการตัดสินใจ

ผ่าตัดกระเพาะ รักษาโรคอ้วน

ผ่าตัดกระเพาะคืออะไร? วิธีการและจุดประสงค์ของการรักษา

การผ่าตัดกระเพาะ เป็นวิธีรักษาผู้ป่วยโรคอ้วน ด้วยการผ่าตัดลดขนาดของกระเพาะอาหารเพื่อจำกัดปริมาณอาหารที่สามารถรับประทานได้ในแต่ละมื้อ ทำให้รู้สึกอิ่มเร็วขึ้น และลดการดูดซึมพลังงานในบางกรณี การผ่าตัดกระเพาะลดความอ้วนในปัจจุบันที่ใช้รักษาผู้ป่วย มี 2 วิธีหลัก ดังนี้

  • การผ่าตัดแบบ Sleeve Gastrectomy : เป็นการผ่าตัดตัดกระเพาะออกบางส่วน ทำให้มีขนาดของกระเพาะเล็กลง อิ่มเร็วขึ้น 
  • การผ่าตัดแบบ Roux-en-Y Gastric Bypass : เป็นการผ่าตัดกระเพาะลดความอ้วนร่วมกับการเปลี่ยนเส้นทางของระบบทางเดินอาหารใหม่ ผู้ป่วยจะรับประทานอาหารได้น้อยลง อิ่มเร็ว ลดการดูดซึมบางส่วน และช่วยควบคุมฮอร์โมนความหิว 

สำหรับวัตถุประสงค์หลักของการผ่าตัดกระเพาะคือเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยลดน้ำหนักลงอย่างมีประสิทธิภาพ และลดความเสี่ยงของโรคเรื้อรังที่เกี่ยวข้องกับภาวะอ้วน เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และภาวะหยุดหายใจขณะหลับ 

ทำไมหลายคนกังวลเรื่องผลเสียระยะยาวหลังผ่าตัดกระเพาะ

การผ่าตัดกระเพาะอาหารมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ส่วนใหญ่แล้วหลายคนจะทราบเกี่ยวกับข้อดีในเรื่องของการรักษามากกว่า แต่ไม่ค่อยทราบถึงข้อเสียหรือผลข้างเคียงหลังผ่าตัด ทำให้เกิดความกังวลในการรักษาด้วยวิธีนี้ ทั้งนี้ การผ่าตัดกระเพาะมีผลข้างเคียงที่พบได้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว อีกทั้งยังเกิดขึ้นได้กับการผ่าตัดทั้งแบบ Sleeve และ Bypass แต่ผลข้างเคียงนั้นสามารถรักษาได้ และมีผลเสียน้อยกว่าภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากโรคอ้วนแล้วไม่ได้รับการรักษาอย่างแน่นอน 

อ่านบทความที่น่าสนใจ : โรคอ้วนคืออะไร? เมื่อไหร่ควรตัดสินใจผ่าตัด

ผลข้างเคียงระยะสั้นและระยะยาวของการผ่าตัดกระเพาะที่ควรรู้

การผ่าตัดกระเพาะ มีผลข้างเคียงทั้งระยะสั้นและระยะยาว ผู้ที่เข้ารับการผ่าตัดส่วนใหญ่มักมีผลข้างเคียงระยะสั้นที่อาจเกิดขึ้นภายในไม่กี่สัปดาห์ หรืออาจเกิดขึ้นหลังผ่าตัดประมาณ 1-3 เดือน เช่น

  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • ปวดแผลผ่าตัด หรือแผลภายใน
  • อ่อนเพลีย
  • ท้องเสีย หรือท้องผูก
  • นิ่วในถุงน้ำดี จากการลดน้ำหนักที่รวดเร็ว
  • กรดไหลย้อน

สำหรับผลข้างเคียงระยะยาวหลังผ่าตัดกระเพาะนั้นพบได้น้อยหรืออาจไม่พบเลยในผู้ป่วยหลายคน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นผลข้างเคียงที่เกิดจากการขาดวิตามินและสารอาหาร เนื่องจากการผ่าตัดกระเพาะจะเข้าไปลดการดูดซึมทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีภาวะขาดสารอาหาร และอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ได้ 

ผลข้างเคียงหลังผ่าตัดกระเพาะอาหาร

ผ่าตัดกระเพาะมีผลเสียระยะยาวอะไรบ้าง?

ผลเสียระยะยาวหลังผ่าตัดกระเพาะอาหารลดความอ้วนนั้น มีความแตกต่างกันทั้งวิธีผ่าตัดแบบ Sleeve และ Bypass โดยมีรายละเอียด ดังนี้ 

ผลข้างเคียงระยะยาว วิธีผ่าตัดแบบ Sleeve Gastrectomy

หลังผ่าตัดกระเพาะแบบ Sleeve อาจมีภาวะของกรดไหลย้อน แม้ก่อนผ่าตัดจะไม่เคยมีอาการมาก่อนก็ตาม เพราะความจุของกระเพาะอาหารที่เล็กลงเหลือเพียง 150-200cc ทำให้เวลารับประทานอาหารเข้าไป ถึงจะไม่ได้มีปริมาณมากก็อาจพ้นเลยกระเพาะอาหารออกมา ทำให้เกิดกรดไหลย้อนได้ แต่อาการเหล่านี้สามารถควบคุมให้หายได้ด้วยยาลดกรด และมีส่วนน้อยมากที่จะต้องกลับมาผ่าตัดแก้ไข

นอกจากนี้ยังมีผลระยะยาวเกี่ยวกับการขาดแร่ธาตุ เช่น เหล็ก หรือวิตามินบางชนิดได้ การติดตามผลหลังรักษากับแพทย์จะช่วยให้ทราบและลดปัญหานี้ได้

ผลข้างเคียงระยะยาว วิธีผ่าตัดแบบ Roux-en-Y Gastric Bypass

สำหรับการผ่าตัดกระเพาะแบบบายพาสมีข้อเสียระยะยาวที่พบบ่อย คือ ภาวะขาดสารอาหารและวิตามิน และกลุ่มอาการภาวะน้ำตาลต่ำ (Dumping Syndrome) ซึ่งแบ่งได้เป็น 2 ระยะ ดังนี้ 

Late dumping : ภาวะนี้ส่วนใหญ่เกิดขึ้นหลังผ่าตัด 1-2 ปี และมักเกิดหลังจากรับประทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตสูงไปสักระยะหนึ่ง ร่างกายจะกระตุ้นการหลั่งอินซูลินออกมามากเกินไป จนไปกดน้ำตาลในกระแสเลือดให้ต่ำกว่าค่าปกติ ผู้ที่มีภาวะนี้มักมีอาการหน้ามืด รู้สึกเหมือนจะเป็นลม หรืออาจเป็นลม

Early Dumping : พบบ่อยหลังผ่าตัดในช่วงแรก ผู้ป่วยมักมีอาการ เหงื่อออกมาก ใจสั่น ปวดท้อง โดยจะเกิดขึ้นหลังทานอาหาร 15-30 นาที ส่วนใหญ่มาจากการทานอาหารบางชนิด เช่น น้ำหวาน สมูทตี้ หรืออาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตสูง ทำให้น้ำในร่างกายถูกดูดซึมเข้าไปอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เกิดภาวะขาดน้ำชั่วคราว

ผ่าตัดกระเพาะลดความอ้วน

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ผลข้างเคียงหลังผ่าตัดกระเพาะรุนแรงขึ้น

แม้ผลข้างเคียงระยะยาวจากการผ่าตัดกระเพาะจะพบได้ในบางราย แต่ก็สามารถเกิดขึ้นได้จากปัจจัยเสี่ยงร่วมด้วย ดังนี้ 

  • พฤติกรรมการกิน เช่น ทานอาหารแคลอรีสูง อาหารหวานมาก รสจัดมาก และรับประทานโดยไม่ได้ควบคุมอาหาร 
  • ขาดการออกกำลังกาย 
  • ความเครียดสะสม ที่อาจนำไปสู่การรับประทานอาหารเกินความจำเป็นได้
  • ร่างกายปรับตัวและเริ่มดูดซึมสารอาหารได้ดีขึ้น ประกอบกับไม่ได้ควบคุมอาหาร
  • การลำดับอาหารที่รับประทานไม่ถูกต้อง

วิธีป้องกันและดูแลตนเองหลังผ่าตัดกระเพาะ เพื่อหลีกเลี่ยงผลเสียระยะยาว

เพื่อป้องกันผลข้างเคียงหรือหลีกเลี่ยงผลเสียหลังผ่าตัดกระเพาะตามที่กล่าวมา ผู้ป่วยจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการดูแลตัวเองหลังผ่าตัดอย่างเคร่งครัด โดยสามารถทำได้ ดังนี้ 

  • ควบคุมและจำกัดปริมาณการรับประทานอาหารอย่างเหมาะสม 
  • เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ มีสารอาหารที่ครบถ้วน และทานอาหารที่หลากหลาย
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ 
  • ทำกิจกรรมผ่อนคลายช่วยลดความเครียด 
  • ปรับรูปแบบการทานอาหาร เช่น ทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตน้อย และเริ่มมื้ออาหารด้วยโปรตีน ตามด้วยผัก แล้วค่อยตามด้วยคาร์โบไฮเดรตเป็นสิ่งสุดท้าย 
  • ลดการดื่มน้ำระหว่างมื้ออาหาร 
  • พบแพทย์ตามนัดหมาย และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด 

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร และให้ความสำคัญกับสุขภาพกายและใจอยู่เสมอจะช่วยลดโอกาสเกิดผลข้างเคียง หรือมีอาการจากผลข้างเคียงน้อยมากและไม่จำเป็นต้องรักษาด้วยยา หรือกลับไปผ่าตัดซ้ำ

ผ่าตัดกระเพาะลดความอ้วน

ผ่าตัดกระเพาะเหมาะกับใครบ้าง? ประเมินความเสี่ยงก่อนตัดสินใจ

การผ่าตัดกระเพาะลดความอ้วนไม่ใช่วิธีรักษาที่เหมาะสำหรับทุกคน แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาจากการวินิจฉัยผู้ป่วย โดยผู้ที่เหมาะกับการผ่าตัดกระเพาะนั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ดังนี้ 

  • ผู้ที่มีค่า BMI มากกว่า 35 และมีโรคร่วม เช่น เบาหวาน ความดัน หรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
  • ผู้ที่มีค่า BMI มากกว่า 40 โดยไม่มีโรคร่วม
  • ผู้ที่เคยผ่านการลดน้ำหนักด้วยวิธีอื่นมาแล้ว แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ
  • ผู้ที่พร้อมที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตหลังผ่าตัด

ทั้งนี้วิธีผ่าตัดกระเพาะอาหารที่แพทย์จะเลือกใช้รักษาผู้ป่วย แพทย์จะประเมินจากความเสี่ยงจากปัจจัยอื่น ๆ ร่วมด้วย เพื่อหาวิธีที่เหมาะสมและปลอดภัยต่อผู้ป่วยมากที่สุด

สรุป ผ่าตัดกระเพาะมีผลเสียระยะยาวไหม? ควรผ่าตัดหรือไม่?

การผ่าตัดกระเพาะลดความอ้วนมีทั้งข้อดีและข้อเสีย แม้จะช่วยลดน้ำหนักและลดความเสี่ยงของโรคเรื้อรังได้ แต่ก็มีผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นในระยะยาว โดยเฉพาะหากไม่ได้ดูแลตนเองอย่างถูกวิธี อย่างไรก็ตาม หากได้รับการประเมินจากแพทย์ และปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด ความเสี่ยงต่าง ๆ สามารถป้องกันได้และการผ่าตัดกระเพาะยังถือว่าเป็นวิธีที่ช่วยรักษาโรคอ้วนและภาวะแทรกซ้อนที่มีปลอดภัยสูง พร้อมช่วยให้ผู้ป่วยกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนได้อีกครั้ง 

สำหรับผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับน้ำหนักเกิน และมีภาวะของโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ ร่วมด้วย สามารถปรึกษาแพทย์ผู้ชำนาญการที่ศูนย์ผ่าตัดผ่านกล้อง MSC Healthcare เพื่อรับการวินิจฉัยเพิ่มเติม พร้อมทั้งการรักษากรณีที่ต้องผ่าตัดกระเพาะลดความอ้วน ดูแลทุกขั้นตอนโดยแพทย์เฉพาะทาง เพื่อผลการรักษาที่ดีที่สุด และเหมาะกับผู้ป่วยแต่ละเคสได้มากที่สุด 

สอบถามข้อมูลและทำนัดหมายได้ที่

โทร. 065-509-4459

Line : @msc.healthcare