มะเร็งเต้านม

มะเร็งเต้านม (Breast cancer) เป็นโรคร้ายที่พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และสามารถเกิดขึ้นได้ตั้งแต่วัยทำงาน โดยเฉพาะในผู้หญิงที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น พันธุกรรม หรือการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ซึ่งมักจะไม่แสดงอาการในระยะแรกเริ่ม ทำให้หลายคนไม่รู้ตัวว่ากำลังเผชิญกับโรคนี้ การทำความเข้าใจเกี่ยวกับ มะเร็งเต้านมมีกี่ระยะ และอาการเตือนของมะเร็งในระยะแรกมีอะไรบ้าง รวมถึงการสังเกตตัวเองเบื้องต้น ก็จะช่วยให้ได้รับการรักษาที่รวดเร็ว ลดความเสี่ยงของการลุกลามไปสู่ระยะต่อไปได้

มะเร็งเต้านมคืออะไร?

มะเร็งเต้านม เกิดจากการเจริญเติบโตของเซลล์รวดเร็วมากผิดปกติ โดยเฉพาะเซลล์ในท่อน้ำนม และเนื้อเยื่อบุผิวต่อมน้ำนม ทำให้เกิดเป็นก้อนในเต้านมขึ้น ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่รู้ว่ามะเร็งเต้านมมีกี่ระยะ และความผิดปกติหรืออาการที่เกิดขึ้นนั้นเป็นภาวะของมะเร็งเต้านมในระยะไหน ทำให้ไม่ได้รับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ จนเซลล์มะเร็งลุกลามไปสู่ระยะที่เริ่มแสดงอาการมากขึ้น ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่หลายคนตรวจพบมะเร็งเต้านมในระยะที่มีการแพร่กระจาย หรือมะเร็งเต้านมระยะสุดท้าย ที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิต

อ่านบทความที่น่าสนใจ : วิธีตรวจเต้านมด้วยตัวเอง ทำได้จากที่บ้าน ลดความเสี่ยงก่อนสาย

มะเร็งเต้านมมีกี่ระยะ

มะเร็งเต้านมมีกี่ระยะ?

มะเร็งเต้านมมีทั้งหมด 5 ระยะ โดยเริ่มจากระยะที่ 0 ไปจนถึงระยะที่ 4 ซึ่งเป็นระยะสุดท้าย และแต่ละระยะก็มีความแตกต่างกัน ดังนี้ 

มะเร็งเต้านมระยะ 0

มะเร็งเต้านมระยะแรก หรือระยะที่เรียกว่า DCIS ซึ่งเป็นระยะที่เซลล์มะเร็งเพิ่งเริ่มก่อตัวและยังอยู่เฉพาะที่ หากตรวจพบในระยะนี้ มีโอกาสรักษาให้หายได้มากถึง 99% เพราะเป็นระยะที่ยังไม่มีการแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง 

มะเร็งเต้านมระยะ 1

มะเร็งเต้านมระยะ 1 เป็นระยะที่เริ่มมีการลุกลามออกไปยังเนื้อเยื่อฐานราก แต่ยังไม่แพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองที่บริเวณรักแร้ โดยขนาดก้อนมะเร็งที่ตรวจพบในระยะนี้ส่วนใหญ่ไม่เกิน 2 ซม. มีโอกาสรักษาให้หายขาดได้เช่นเดียวกับระยะ 0

มะเร็งเต้านมระยะ 2

มะเร็งเต้านมระยะ 2 ขนาดของก้อนมะเร็งอาจใหญ่กว่า 2 ซม. แต่ไม่เกิน 5 ซม. และยังไม่มีการแพร่กระจาย ผู้ป่วยบางคนอาจตรวจพบขนาดก้อนมะเร็งที่เล็กกว่า 2 ซม. ได้ แต่อาจมีภาวะของการแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้แล้ว หากยังไม่มีการแพร่กระจายมีโอกาสรักษาให้หายได้ดีกว่า 

มะเร็งเต้านมระยะ 3

สำหรับผู้ป่วยที่ตรวจพบมะเร็งระยะ 3 ส่วนใหญ่จะเริ่มคลำพบก้อน ซึ่งเป็นระยะที่เซลล์มะเร็งแพร่กระจายเข้าสู่ต่อมน้ำเหลืองรักแร้มากกว่า 4 ต่อมขึ้นไป โอกาสในการรักษาให้หายขาดลดลง มีความเสี่ยงที่จะกลับมาเป็นซ้ำและเกิดการกระจายของเซลล์มะเร็งไปยังอวัยวะอื่น ๆ ได้

มะเร็งเต้านมระยะ 4 (ระยะสุดท้าย)

มะเร็งเต้านมระยะที่ 4 หรือระยะสุดท้าย เป็นระยะที่เซลล์มะเร็งได้กระจายลุกลามไปยังอวัยวะส่วนอื่น ๆ แล้ว ผู้ป่วยที่ตรวจพบในระยะนี้ส่วนใหญ่จะพบว่ามีการแพร่กระจายไปยัง ปอด ตับ สมอง กระดูก และเป็นระยะที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้

กังวลเกี่ยวกับอาการมะเร็งเต้านม : ปรึกษาแพทย์ฟรี

อาการเตือน มะเร็งเต้านม

อาการของมะเร็งเต้านมในแต่ละระยะ

นอกจากการทำความเข้าใจเกี่ยวกับ มะเร็งเต้านมมีกี่ระยะ การสังเกตอาการเบื้องต้นของมะเร็งแต่ละระยะก็เป็นวิธีที่ช่วยให้รู้ได้เร็ว และมีโอกาสได้รับการรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มต้นได้ โดยอาการที่ต้องสังเกต มีดังนี้ 

  • อาการของมะเร็งเต้านมระยะแรกเริ่ม ในระยะที่ 0-1 ส่วนใหญ่แล้วจะยังไม่มีอาการที่ชัดเจน และยังไม่พบก้อนเนื้อ การตรวจพบรอยโรคมะเร็งเต้านมในระยะนี้ มักมาจากการตรวจสุขภาพหรือทำแมมโมแกรม 
  • อาการของมะเร็งเต้านมในระยะที่ 2 จะเริ่มมีสัญญาณเตือนที่ชัดขึ้น ผู้ป่วยส่วนใหญ่คลำพบก้อนที่บริเวณเต้านมหรือรักแร้ แต่ไม่รู้สึกเจ็บ บางคนอาจมีรูปร่างของเต้านมที่เปลี่ยนไปและมีรอยรูขุมขนชัดขึ้นเหมือนเปลือกผิวส้มที่มองเห็นได้ชัดเจน 
  • สำหรับอาการของมะเร็งเต้านมในระยะที่ 3 และ 4 ซึ่งเป็นระยะที่เริ่มมีการลุกลามของเซลล์มะเร็งไปยังต่อมน้ำเหลืองแล้ว ผู้ป่วยอาจมีอาการเจ็บปวดเต้านมข้างใดข้างหนึ่ง มีอาการหัวนมยุบตัว ผิวหนังแข็งหรือหนา มีสีผิวเปลี่ยนไปหรือเกิดแผลที่รักษาไม่หายขาด คลำเจอก้อนเนื้อ และอาจมีของเหลวไหลออกจากหัวนม

แนวทางการรักษาตามระยะของมะเร็งเต้านม

การรักษาโรคมะเร็งเต้านมมีหลายแนวทาง แพทย์อาจพิจารณาตามระยะของโรคและสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย ซึ่งแนวทางการรักษาที่แพทย์จใช้รักษาผู้ป่วยมีดังนี้ 

1. การผ่าตัดเต้านมและต่อมน้ำเหลือง

การผ่าตัดรักษามะเร็งเต้านม ปัจจุบันมี 2 วิธี คือการผ่าตัดแบบดั้งเดิม และวิธีผ่าตัดส่องกล้อง (Endoscopic Breast Surgery) โดยมีรายละเอียดดังนี้ 

  • การผ่าตัดแบบดั้งเดิม : แพทย์จะผ่าตัดเต้านมและต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ รวมถึงผิวหนังส่วนที่อยู่เหนือก้อนมะเร็งและหัวนมออกทั้งหมด เป็นวิธีรักษาที่แพทย์จะพิจารณาสำหรับผู้ป่วยที่มีก้อนมะเร็งขนาดใหญ่ และมีการแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ แม้เป็นวิธีรักษาที่ให้ผลในการรักษาดี แต่มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำ และผู้ป่วยอาจสูญเสียความมั่นใจหลังการรักษาได้ 
  • วิธีผ่าตัดส่องกล้องรักษามะเร็งเต้านม : แนวทางรักษาด้วยวิธีส่องกล้อง แพทย์จะทำการส่องกล้องผ่านแผลขนาดเล็กใต้รักแร้ หรือบริเวณฐานหัวนม ด้วยอุปกรณ์ที่ออกแบบเฉพาะที่มีอุปกรณ์ผ่าตัดและกล้องขนาดเล็กที่สามารถสอดเข้าไปผ่าตัดเนื้องอกออก โดยแพทย์จะตัดเลาะก้อนเนื้อ และเนื้อเยื่อเต้านมได้แม่นยำ เป็นวิธีการรักษาที่ไม่ต้องตัดเต้านมทิ้งและแพทย์สามารถตกแต่งทรงของเต้านมไปด้วยได้ ช่วยให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตอย่างมั่นใจได้หลังการรักษา

3. การฉายแสง 

สำหรับการรักษามะเร็งเต้านมด้วยวิธีฉายแสง แพทย์จะพิจารณาในกรณีที่ตรวจพบขนาดก้อนมะเร็งที่ใหญ่กว่า 5 เซนติเมตร และมีการกระจายของมะเร็งไปยังต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้แล้ว โดยการฉายแสงจะครอบคลุมบริเวณเต้านม หน้าอก และรักแร้ ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการฉายแสงรักษามะเร็งเต้านมติดต่อกัน 4-5 สัปดาห์ ตามการวินิจฉัยของแพทย์ โดยใช้เวลาในแต่ละครั้งประมาณ 10-15 นาที

4. เคมีบำบัด

เคมีบำบัด (Chemotherapy) เป็นแนวทางการรักษามะเร็งเต้านม ที่แพทย์จะพิจารณาใช้รักษาผู้ป่วยที่เซลล์มะเร็งมีแนวโน้มจะแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว หรือมีความเสี่ยงสูงต่อการกลับมาเป็นซ้ำหลังการผ่าตัด การรักษาด้วยเคมีบำบัดมีเป้าหมายเพื่อทำลายเซลล์มะเร็ง หรือยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งที่ยังคงเหลืออยู่ในร่างกาย โดยยาเคมีบำบัดสามารถเข้าสู่ร่างกายได้หลายวิธี เช่น ยารับประทาน การฉีดเข้าเส้นเลือด และฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์และชนิดของมะเร็ง

5. ให้ยามุ่งเป้า 

การรักษามะเร็งเต้านมด้วยวิธีมุ่งเป้า (Targeted Therapy) เป็นการใช้ยาที่ออกฤทธิ์โดยตรงกับเซลล์มะเร็งที่มีคุณสมบัติเฉพาะ เช่น เซลล์ที่แสดงโปรตีน HER2 ในระดับสูง ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นการเติบโตของเซลล์มะเร็ง การใช้ยามุ่งเป้าจะช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งได้อย่างตรงจุด ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการรักษา และลดผลข้างเคียงต่อเซลล์ปกติ ก่อนเริ่มการรักษาจำเป็นต้องตรวจระดับ HER2 เพื่อวางแผนการรักษาที่เหมาะสมเฉพาะราย วิธีนี้มักใช้ร่วมกับเคมีบำบัดหรือฮอร์โมนบำบัดเพื่อเสริมผลการรักษาให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น

6. ภูมิคุ้มกันบำบัด

การรักษามะเร็งเต้านมด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด เป็นการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้สามารถตรวจจับและทำลายเซลล์มะเร็งได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยส่วนใหญ่แพทย์จะพิจารณารักษามะเร็งเต้านมบางชนิด เช่น Triple Negative Breast Cancer (TNBC) ที่ไม่ตอบสนองต่อเคมีบำบัดหรือยามุ่งเป้า ด้วยการนำลักษณะเฉพาะตัวของเซลล์มะเร็งมาคัดลอกเซลล์หรือเปปไทด์ แล้วนำมาเพาะเลี้ยงกับเดนไดรติกเซลล์เพื่อให้จดจำเซลล์มะเร็ง เมื่อฉีดกลับเข้าสู่ร่างกาย ระบบภูมิคุ้มกันจะสามารถกำจัดเซลล์มะเร็งได้อย่างจำเพาะ แม้ให้ผลการรักษาที่ดีในบางราย แต่ยังเป็นแนวทางใหม่ที่อยู่ระหว่างการศึกษาเพิ่มเติม 

การตรวจโรคมะเร็งเต้านม

ทำไมการตรวจพบเร็วถึงสำคัญ?

การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม อาจไม่ใช่วิธีที่ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคได้ แต่การตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี ช่วยให้ตรวจพบรอยโรคได้เร็ว และอาจเป็นการตรวจพบมะเร็งเต้านมระยะ 0 ซึ่งเป็นระยะที่มีโอกาสรักษาให้หายขาดได้ โดยเฉพาะคนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น มีประวัติคนในครอบครัวเคยเป็นมะเร็งเต้านมยิ่งจำเป็นต้องตรวจเต้านมเป็นประจำทุกปี หากไม่ได้เป็นกลุ่มเสี่ยง ควรตรวจเต้านมด้วยตัวเองอย่างน้อยเดือนละครั้ง และตรวจโดยแพทย์เฉพาะทางทุก 3 ปี การตรวจพบโรคเร็วช่วยให้การรักษาทำได้ง่าย มีประสิทธิภาพ และลดอัตราการสูญเสียเต้านมได้ดีที่สุด 

มะเร็งเต้านมรู้ทัน รักษาได้

การทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคมะเร็งเต้านม เช่น มะเร็งเต้านมมีกี่ระยะ หรืออาการเตือนมะเร็งเต้านมระยะเริ่มแรกเป็นอย่างไร จะช่วยให้ผู้ป่วยประเมินตัวเองเบื้องต้นได้ว่ามีความเสี่ยงหรือไม่ ทั้งนี้การตรวจเต้านมด้วยตัวเองก็เป็นวิธีที่ช่วยให้สังเกตเห็นความผิดปกติได้รวดเร็ว และช่วยให้แพทย์วางแผนในการรักษาที่เหมาะสมต่อไป 

สำหรับท่านที่มีความกังวลเกี่ยวกับโรคมะเร็งเต้านม หรือมีอาการที่สงสัยว่าอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรค ที่ MSC Healthcare มีแพทย์เฉพาะทางผู้ชำนาญการพร้อมให้คำปรึกษาและวินิจฉัยเพิ่มเติม รวมทั้งการรักษาด้วยวิธีผ่าตัดส่องกล้องรักษาโรคมะเร็งเต้านม ให้ผู้ป่วยกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความมั่นใจได้อีกครั้ง

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือนัดหมายได้ที่

โทร. 065-509-4459

Line : @msc.healthcare