
โรคไส้เลื่อนแผลผ่าตัด (Incisional Hernia) คือ ภาวะไส้เลื่อนที่มักเกิดขึ้นหลังการผ่าตัดโดยที่แผลผ่าตัดยังไม่สมบูรณ์ เนื่องจากมีแรงดันภายในช่องท้องมากเกินไป ทำให้อวัยวะเนื้อเยื่ออื่น ๆ ยื่นออกจากผนังช่องท้องและไม่สามารถกลับสู่ที่เดิมได้ ไส้เลื่อนแผลผ่าตัด สามารถเกิดขึ้นได้หลังผ่าตัดทุกเวลา ส่วนใหญ่อยู่ในช่วง 3-6 เดือน ไปจนถึงหลายปี

ไส้เลื่อนคืออะไร?
ไส้เลื่อน คือ ภาวะที่ลำไส้หรืออวัยวะภายในช่องท้องบางส่วน เคลื่อนตัวผ่านผนังช่องท้องที่อ่อนแอหรือบอบบาง ทำให้เห็นเป็นก้อนนูนบริเวณหน้าท้อง ขาหนีบ หรือสะดือ และอาจมีอาการปวดหรือไม่สบายตัวเมื่อเคลื่อนไหว โดยอาการของไส้เลื่อนอาจแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ทั้งนี้การเกิดไส้เลื่อนนั้นก็มาได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้
สาเหตุของไส้เลื่อน
- ความดันในช่องท้องสูง เช่น การเบ่งอุจจาระหรือปัสสาวะบ่อย
- ออกแรงยกของหนักเป็นประจำ
- ไอเรื้อรังหรือจามแรง
- น้ำหนักเกินหรือโรคอ้วน
- การตั้งครรภ์
อ่านบทความที่น่าสนใจ : ไส้เลื่อน… อย่าปล่อยไว้! เช็กตำแหน่งที่พบบ่อย สาเหตุ และวิธีรักษา

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิด ไส้เลื่อนแผลผ่าตัด
หลังผ่าตัดรักษาไส้เลื่อนแล้ว หากผู้ป่วยขาดการดูแลตัวเองอย่างเหมาะสม อาจนำไปสู่ภาวะไส้เลื่อนแผลผ่าตัดได้ โดยปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะไส้เลื่อนซ้ำมีดังนี้
1. โรคอ้วนหรือน้ำหนักเกิน
น้ำหนักตัวที่มากเกินไปหลังผ่าตัด มีส่วนต่อการเพิ่มแรงดันในช่องท้อง ทำให้แผลผ่าตัดฟื้นตัวช้า และเกิดการดันตัวของลำไส้กลับออกมาได้ง่ายขึ้น
2. การใช้กล้ามเนื้อหน้าท้องมากเกินไป
พฤติกรรมบางอย่างหลังผ่าตัดที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อกล้ามเนื้อหน้าท้อง เช่น การยกของหนัก, ออกแรงเบ่งขับถ่ายเป็นประจำ และการออกกำลังกายหลังผ่าตัดมากเกินไป
3. ไอหรือจามเรื้อรัง
การไอหรือจามอย่างต่อเนื่อง ทำให้แรงดันในช่องท้องเพิ่มขึ้นและส่งผลกระทบต่อแนวแผลผ่าตัดเดิมที่ยังฟื้นตัวไม่สมบูรณ์
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดไส้เลื่อนแผลผ่าตัด เช่น การสูบบุหรี่ การตั้งครรภ์ และภาวะจากต่อมลูกหมากโตในผู้สูงอายุ การดูแลตัวเองตั้งแต่เนิ่น ๆ หลังผ่าตัดจึงเป็นวิธีที่ช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงของการเกิดโรคไส้เลื่อนแผลผ่าตัดได้ดีที่สุด
วิธีป้องกันไม่ให้ไส้เลื่อนกลับมาเป็นอีก
สำหรับวิธีป้องกันไส้เลื่อนแผลผ่าตัด หรือ Incisional Hernia ที่ดีที่สุดก็คือ การดูแลตัวเองและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ ดังนี้
- งดสูบบุหรี่ และรักษาอาการไอเรื้อรังให้หายขาด
- รักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
- หลีกเลี่ยงการยกของหนักในช่วง 6 เดือนแรกหลังผ่าตัด
- รับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์สูง ป้องกันอาการท้องผูก ลดการเบ่งขับถ่าย
- ควบคุมโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ให้อยู่ในภาวะที่เหมาะสม

เมื่อเป็นไส้เลื่อนแผลผ่าตัด ควรทำอย่างไร?
ไส้เลื่อนแผลผ่าตัด ต้องรีบเข้ารับการรักษาเพราะไส้เลื่อนแผลผ่าตัดอาจรุนแรงกว่าครั้งแรก และมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ง่าย โดยการรักษาไส้เลื่อนแผลผ่าตัดมักต้องใช้เทคนิคที่ซับซ้อนขึ้น แพทย์อาจเลือกวิธีผ่าตัดผ่านกล้องและเสริมแผ่น Mesh เพื่อความแข็งแรงของผนังหน้าท้อง เป็นวิธีที่บาดเจ็บน้อย ใช้เวลาฟื้นตัวไม่นาน และลดโอกาสเป็นซ้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตามการสังเกตอาการเบื้องต้นจะช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่รวดเร็วและลดความรุนแรงของโรคได้
อาการที่พบบ่อยภาวะไส้เลื่อนแผลผ่าตัด
- ปวดท้อง
- ท้องผูก
- คลื่นไส้
- อาเจียน
- มีภาวะเนื้อเยื่อบริเวณผ่าตัดเน่า
- ไข้ขึ้นสูง
- ลำไส้อุดตัน
- หัวใจเต้นเร็ว
ไส้เลื่อนแผลผ่าตัดใช่เรื่องเล็ก หากปล่อยไว้ยิ่งอันตราย
ไส้เลื่อนแม้จะสามารถรักษาให้หายได้ แต่หากไม่ดูแลตัวเองให้ดีพอ ก็อาจทำให้เกิดไส้เลื่อนแผลผ่าตัดได้อย่างไม่รู้ตัว การเข้าใจถึงปัจจัยเสี่ยงร่วมกับปฏิบัติตัวหลังการผ่าตัดอย่างถูกต้อง จะช่วยลดโอกาสการเกิดซ้ำพร้อมทั้งฟื้นฟูร่างกายได้อย่างเหมาะสม ทั้งนี้หากรู้สึกถึงความผิดปกติกับร่างกายหลังผ่าตัดรักษาไส้เลื่อน ควรรีบพบแพทย์ทันที
หากคุณมีความกังวลใจเกี่ยวกับไส้เลื่อนแผลผ่าตัด หรือมีอาการที่ใกล้เคียงกับที่กล่าวมา สามารถปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง ที่ MSC Healthcare เพื่อเข้ารับการวินิจฉัยเพิ่มเติม และเข้ารับการรักษาด้วยวิธีผ่าตัดผ่านกล้องที่ให้ผลดีในการรักษา มีแผลเล็ก เจ็บน้อย ฟื้นตัวเร็ว พร้อมการดูแลทั้งก่อนและหลังเข้ารับการรักษา เพื่อให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพอีกครั้ง
สอบถามข้อมูลและทำนัดหมาย
โทร. 065-509-4459
Line : @msc.healthcare