ภาวะมดลูกหย่อน

มดลูกเป็นอวัยวะสำคัญในอุ้งเชิงกรานของเพศหญิง เมื่ออายุมากขึ้นก็มีโอกาสที่มดลูกจะเคลื่อนที่เปลี่ยนตำแหน่งได้ ซึ่งเป็นภาวะที่เรียกว่า “มดลูกหย่อน” หากปล่อยไว้โดยไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมอาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันให้กับผู้หญิงได้ในระยะยาว การรู้ถึงสาเหตุ และอาการมดลูกหย่อน พร้อมทั้งวิธีรักษาจึงช่วยลดความเสี่ยงของผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากภาวะนี้ได้

มดลูกหย่อนคืออะไร?

มดลูกหย่อน (Uterine Prolapse) หรือมดลูกต่ำ คือ ภาวะที่พบบ่อยในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน เป็นภาวะที่มดลูกเลื่อนจากตำแหน่งเดิมลงมาใกล้ปากช่องคลอด โดยเกิดขึ้นจากกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อที่ทำหน้าที่รองรับมดลูกในอุ้งเชิงกรานอ่อนแรงลงหรือสูญเสียความแข็งแรง ส่งผลให้มดลูกเลื่อนต่ำลงมาทางช่องคลอด หากไม่ได้รับการรักษา อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ได้

สาหตุ ภาวะมดลูกหย่อน

ภาวะมดลูกหย่อน เกิดจากอะไร?

สาเหตุหลักของภาวะมดลูกหย่อน คือ ความเสื่อมสภาพของกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน ทำให้ไม่สามารถรั้งมดลูกเอาไว้ในตำแหน่งเดิมได้ ส่งผลให้เกิดการหย่อนลงไปในช่องคลอด ซึ่งปัจจัยที่ทำให้กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานเสื่อมสภาพมี ดังนี้

  • การคลอดบุตรด้วยวิธีธรรมชาติหลายครั้ง
  • การยกของหนัก
  • การออกแรงเบ่งจากภาวะท้องผูกเรื้อรังเป็นเวลานาน
  • มีประวัติคนในครอบครัวเคยมีภาวะมดลูกหย่อน
  • ไอเรื้อรังเป็นเวลานานติดต่อกัน
  • มีภาวะอ้วน น้ำหนักเกินเกณฑ์
  • อายุที่เพิ่มขึ้นจากวัยหมดระดูหรือวัยทอง
  • เคยผ่านการผ่าตัดอุ้งเชิงกราน

อ่านบทความที่น่าสนใจ :ไขข้อสงสัยเป็นเนื้องอกในมดลูกมีผลต่อการมีลูกหรือไม่?

อาการของมดลูกหย่อน

ในระยะแรก ภาวะมดลูกหย่อนอาจไม่มีอาการผิดปกติที่เห็นได้ชัด แต่เมื่อเข้าสู่ระดับที่ 2 ผู้ป่วยอาจมีอาการแสดงให้เห็น ดังนี้  

  • รู้สึกปวดหน่วงบริเวณอุ้งเชิงกราน
  • ปวดหลังส่วนล่าง
  • มองเห็นเนื้อเยื่อโผล่ออกมาจากช่องคลอด
  • ปัสสาวะขัด กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ปัสสาวะบ่อย
  • อาการท้องผูกเรื้อรัง
  • รู้สึกเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์

ระดับความรุนแรงของมดลูกหย่อน

เมื่อมีภาวะมดลูกหย่อนส่วนใหญ่แล้วจะยังไม่ทราบถ้ายังไม่ได้รับการวินิจฉัย แต่เมื่อเข้าสู่ระดับที่ 2 ขึ้นไปหลายคนจะสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงที่บริเวณช่องคลอดรวมถึงอาการร่วมจากภาวะมดลูกหย่อน โดยมีระดับความรุนแรง 4 ระดับ ดังนี้

  • ระดับที่ 1 : มดลูกเลื่อนลงมาเล็กน้อย แต่ยังไม่ถึงปากช่องคลอด
  • ระดับที่ 2 : มดลูกเลื่อนลงมาถึงปากช่องคลอด อาจมองเห็นได้ในบางคน
  • ระดับที่ 3 : มดลูกโผล่ออกจากช่องคลอดบางส่วนสามารถมองเห็นได้ชัดแต่มองเห็นบางส่วนเท่านั้น
  • ระดับที่ 4 : มดลูกโผล่ออกจากช่องคลอดทั้งหมดและมองเห็นส่วนที่โผล่ออกมาได้ทั้งหมด

ทั้งนี้เมื่อเข้าสู่ระยะที่ 4 นอกจากมดลูกจะโผล่ออกมาทั้งหมดแล้ว ยังเสี่ยงต่อการเกิดกระเพาะปัสสาวะหย่อน ไส้ตรงหย่อน และภาวะไส้เลื่อนได้อีกด้วย

ใครบ้างที่มีความเสี่ยงต่อภาวะมดลูกหย่อน?

มดลูกหย่อนเป็นภาวะที่สามารถเกิดขึ้นได้กับผู้หญิงทุกคน โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่วัยทองหรือวัยหมดระดู และผู้มีประวัติคนในครอบครัวเคยเป็นมาก่อนยิ่งมีความเสี่ยงที่เกิดขึ้นได้ รวมถึงปัจจัยเสี่ยงในด้านอื่น ๆ เช่น ผู้ที่เคยคลอดบุตรด้วยวิธีธรรมชาติมามากกว่า 2 ครั้ง คนที่ต้องทำงานออกแรง ยกของหนักเป็นประจำ เป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดภาวะมดลูกหย่อนได้ ส่วนผู้ที่มีอาการท้องผูกเรื้อรัง หรือมีโรคประจำตัวที่มีภาวะไอเรื้อรังเป็นเวลานาน หรือน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์ก็เป็นกลุ่มเสี่ยงที่ต้องระวังด้วย

วิธีการตรวจเช็กภาวะมดลูกหย่อนด้วยตัวเอง

การสังเกตอาการด้วยตัวเองเบื้องต้นจะช่วยให้ทราบถึงความผิดปกติเกี่ยวกับมดลูกหรือมีภาวะของมดลูกหย่อนได้ โดยเฉพาะในระยะที่ 2 ผู้ป่วยสามารถตรวจเช็กด้วยตัวเองเบื้องต้นได้ด้วยวิธีต่อไปนี้

  • รู้สึกปวดหน่วงบริเวณอุ้งเชิงกรานขณะยกของ
  • สังเกตดูว่าบริเวณช่องคลอดว่ามีก้อนเนื้อเล็ก ๆ โผล่ออกมาหรือไม่
  • อาจสอบถามคู่สมรสว่ารู้สึกถึงก้อนเนื้อขณะมีเพศสัมพันธ์หรือไม่
วิธีรักษาภาวะมดลูกหย่อน

แนวทางการรักษามดลูกหย่อน

สำหรับวิธีรักษามดลูกหย่อนในปัจจุบัน แพทย์จะพิจารณาตามความรุนแรงของระยะที่เกิดขึ้นและอาการที่ส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วย โดยสามารถแก้ภาวะมดลูกหย่อนได้ทั้งแบบไม่ต้องผ่าตัดและรักษาด้วยการผ่าตัด ดังนี้

รักษามดลูกหย่อนโดยไม่ต้องผ่าตัด

  • การบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน : วิธีแก้ภาวะมดลูกหย่อนสำหรับผู้ที่อาการไม่รุนแรงและสามารถทำได้เอง ด้วยวิธีเกร็งกล้ามเนื้อลักษณะคล้ายกับการกลั้นปัสสาวะประมาณ 3 วินาที แล้วค่อย ๆ ผ่อนแรง ทำทั้งหมด 4 เซต โดยให้กำหนดเซตละ 10 ครั้ง
  • การใช้อุปกรณ์พยุงช่องคลอด : อุปกรณ์พิเศษที่ออกแบบมาสำหรับใส่ไว้ในช่องคลอดเพื่อให้มดลูกกลับเข้าตำแหน่งเดิม
  • การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม : หลีกเลี่ยงการยกของหนักและรักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ลดการเบ่งขับถ่ายด้วยการรับประทานอาหารที่มีกากใยเพื่อบรรเทาอาการท้องผูก

รักษามดลูกหย่อนโดยการผ่าตัด

  • การผ่าตัดรักษามดลูกหย่อน : วิธีนี้แพทย์จะทำการผ่าตัดเพื่อยึดมดลูกไว้กับกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน เป็นการรักษาที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีอายุน้อยและยังต้องการเก็บมดลูกไว้ แต่อาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะมดลูกหย่อนได้อีกในอนาคต
  • การผ่าตัดมดลูกออก : สำหรับวิธีนี้จะเป็นการผ่าตัดเอามดลูกออกทั้งหมด เหมาะกับผู้ที่มีภาวะมดลูกหย่อนและไม่ต้องการมีบุตรอีก โดยแพทย์จะใช้เทคนิคการผ่าตัดผ่านกล้องทางช่องคลอด (Vaginal Hysterectomy) ที่ช่วยให้ผู้ป่วยมีแผลเล็ก และเจ็บปวดน้อย

ป้องกันมดลูกหย่อนได้อย่างไร?

แม้ว่า มดลูกหย่อน จะเป็นภาวะที่สามารถเกิดได้กับผู้หญิงทุกคน แต่สามารถป้องกันได้ โดยเฉพาะในกรณีที่ไม่มีความเสี่ยงทางพันธุกรรม สามารถดูแลตัวเองเพื่อลดโอกาสเกิดภาวะมดลูกหย่อนได้ ดังนี้

  • ออกกำลังกายแบบ Kegel exercise เพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน
  • หลีกเลี่ยงการยกของหนัก หากจำเป็นต้องปฏิบัติตามท่าทางการยกของที่เหมาะสมเท่านั้น
  • ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
  • รับประทานอาหารที่มีกากใยสูงเพื่อป้องกันอาการท้องผูก
  • หลีกเลี่ยงการเบ่งปัสสาวะหรืออุจจาระเป็นเวลานาน
  • เลิกสูบบุหรี่ เพราะอาจไปกระตุ้นให้เกิดอาการไอเรื้อรัง
  • พบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพเป็นประจำ

ภาวะมดลูกหย่อนเป็นปัญหาสุขภาพที่สามารถป้องกันและรักษาได้ง่าย หากตรวจพบตั้งแต่ระยะแรก การใส่ใจดูแลสุขภาพของตนเองเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะมดลูกหย่อน และช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้หญิงวัยหมดระดูได้อย่างยั่งยืน

สำหรับผู้ที่มีความกังวลเกี่ยวกับภาวะมดลูกหย่อนและต้องการปรึกษาแพทย์เฉพาะทางเพื่อหาแนวทางการรักษาอย่างเหมาะสม ที่ MSC Healthcare มีทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่คอยให้คำแนะนำ เพื่อช่วยคัดกรองความผิดปกติที่เกิดขึ้นให้กับผู้ป่วย พร้อมทั้งการผ่าตัดมดลูกส่องกล้องผ่านช่องคลอดในกรณีที่ผู้ป่วยต้องการรักษาด้วยวิธีตัดมดลูกออก ด้วยอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทันสมัย พร้อมทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่ให้คำปรึกษาและติดตามผลก่อน-หลังผ่าตัด เพื่อการรักษาที่ดีที่สุด

สอบถามและทำนัดหมาย

Line : @msc.healthcare

โทร : 065-509-4459