
การตรวจสุขภาพประจำปีเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้ผู้หญิงดูแลสุขภาพได้อย่างเหมาะสมและลดความเสี่ยงของโรคได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ โดยแต่ละช่วงวัยของผู้หญิงก็มีความเสี่ยงด้านสุขภาพที่แตกต่างกันไป การเลือกแผนตรวจสุขภาพประจำปีให้เหมาะกับช่วงวัยจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้หญิงไม่ควรมองข้าม
ทำไมการตรวจสุขภาพประจำปีถึงสำคัญสำหรับผู้หญิง?
ผู้หญิงในแต่ละช่วงวัยมักมีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพที่แตกต่างกัน บางกรณีอาจมีภาวะของโรคในระยะเริ่มต้นตั้งแต่อายุน้อย หากตรวจพบได้เร็วก็ช่วยให้แพทย์ทำการรักษาได้เร็ว ป้องกันการลุกลามสู่ระยะที่รุนแรงได้ นอกจากนี้การตรวจสุขภาพประจำปียังช่วยคัดกรองโรคร้ายอย่างมะเร็งปากมดลูก และมะเร็งเต้านมให้กับผู้หญิงวัยทำงาน อีกทั้งการทราบความเปลี่ยนแปลงของร่างกาย เช่น ภาวะน้ำหนักเกิน ไขมันในเลือดสูง ยังช่วยให้วางแผนการรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมช่วยลดความเสี่ยงของโรคเรื้อรังได้อีกด้วย

เช็คลิสต์การตรวจสุขภาพที่ผู้หญิงควรทำในแต่ละช่วงวัย
แม้ว่าการตรวจสุขภาพประจำปีสำหรับผู้หญิงแต่ละวัย จะมีความใกล้เคียงกันบ้าง แต่ก็มีจุดที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายในแต่ละช่วงวัย ยิ่งมีอายุมากขึ้นก็ต้องดูแลสุขภาพและระมัดระวังเรื่องความเจ็บป่วยเพิ่มมากขึ้นด้วย โดยการตรวจสุขภาพผู้หญิงที่เหมาะสมแต่ละช่วงวัย มีรายละเอียดดังนี้
อายุ 20 – 30 ปี ตรวจพื้นฐานเพื่อป้องกันโรคระยะเริ่มต้น
ผู้หญิงช่วงวัย 20 – 30 ปี เป็นช่วงวัยที่อยู่ระหว่างวัยเรียนและวัยทำงาน การตรวจสุขภาพประจำปีของวัยนี้จะเป็นการตรวจสุขภาพพื้นฐานเพื่อหาโรคต่าง ๆ ควบคู่ไปกับการซักประวัติเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้ชีวิต โดยการตรวจสุขภาพพื้นฐานของช่วงวัยนี้ ได้แก่
- ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด
- ตรวจระดับน้ำตาลในเลือด
- ตรวจไขมันในเลือด
- ตรวจการทำงานของตับและไต
- ตรวจปัสสาวะและอุจจาระ
- เอกซเรย์ปอด
- ตรวจคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (กรณีที่เคยมีเพศสัมพันธ์)
อายุ 31 – 40 ปี ตรวจสุขภาพเพื่อสมดุลชีวิตและการทำงาน
สำหรับผู้หญิงในวัยนี้เริ่มมีความเสี่ยงของโรคเพิ่มมากขึ้น เพราะวัยทำงานมักมีภาวะของความเครียดและการใช้ชีวิตที่เสี่ยงต่อความเจ็บป่วยได้ง่าย นอกจากการตรวจสุขภาพทั่วไปแบบวัย 20 – 30 ปี ยังมีสิ่งที่ต้องตรวจเพิ่มเติมดังนี้
- ตรวจคัดกรองเบาหวานและความดันโลหิตสูง
- ตรวจระดับฮอร์โมนในร่างกาย
- ตรวจตาเพื่อประเมินความเสี่ยงของโรคต้อหินและปัญหาสายตา
- ตรวจวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
- ตรวจสุขภาพช่องปากและฟัน
- ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก
- ตรวจมะเร็งเต้านม
อายุ 41 – 50 ปี ตรวจเพื่อเฝ้าระวังโรคที่มากับวัย
ผู้หญิงวัย 41 – 50 ปี มีความเสี่ยงต่อโรคร้ายแรงเพิ่มขึ้น การตรวจสุขภาพสำหรับวัยนี้ไม่เพียงแค่ได้รู้ความเปลี่ยนแปลงของร่างกาย แต่ยังช่วยเฝ้าระวังโรคที่พบบ่อยในผู้หญิงวัยนี้ นอกจากจะต้องตรวจสุขภาพพื้นฐานและตรวจเพิ่มเช่นเดียวกับช่วงอายุ 31 – 40 ปี ควรตรวจเพิ่มเติมเฉพาะโรคดังนี้
- ตรวจแมมโมแกรมเพื่อคัดกรองมะเร็งเต้านม
- ตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่
- ตรวจฮอร์โมนเพื่อเตรียมตัวเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน
- ตรวจความหนาแน่นของมวลกระดูก
- ตรวจอัลตราซาวนด์ช่องท้อง
- ตรวจภาวะไขมันพอกตับ
อายุ 51 ปีขึ้นไป ตรวจเพื่อป้องกันโรคร้ายแรงและเสริมสุขภาพ
ผู้หญิงอายุตั้งแต่ 51 ปีขึ้นไป การตรวจสุขภาพประจำปีไม่เพียงแค่ช่วยให้รู้ได้ถึงความเจ็บป่วยในร่างกายเท่านั้น แต่ยังช่วยสร้างความมั่นใจในการใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข ผู้หญิงวัยนี้ควรตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี และมีรายการตรวจเพิ่มเติมจากช่วงวัย 41 – 50 ปี ดังนี้
- ตรวจคัดกรองภาวะกระดูกพรุน
- ตรวจสุขภาพหัวใจอย่างละเอียด
- ตรวจส่องกล้องทางเดินอาหารเพื่อคัดกรองมะเร็งลำไส้
- ตรวจการทำงานของสมอง
- ตรวจระดับวิตามินและแคลเซียม
อ่านบทความที่น่าสนใจ : การส่องกล้องระบบทางเดินอาหารมีกี่แบบ อาการแบบไหนที่ควรส่อง?
การเตรียมตัวก่อนตรวจสุขภาพผู้หญิงต้องทำอย่างไร?
การตรวจสุขภาพประจำปีต้องมีการเตรียมตัวเพื่อให้ผลตรวจมีความแม่นยำ และช่วยให้แพทย์วินิจฉัยโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยสิ่งที่ต้องเตรียมตัวก่อนตรวจสุขภาพมีดังนี้
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- งดน้ำและอาหารอย่างน้อย 8 – 12 ชั่วโมง
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่หรือดื่มแอลกอฮอล์อย่างน้อย 24 ชั่วโมงก่อนตรวจ
- ควรแจ้งให้แพทย์ทราบหากมีคนในครอบครัวเคยมีประวัติเกี่ยวกับโรคเรื้อรัง
- แจ้งให้แพทย์ทราบหากกำลังรับประทานยา หรืออาหารเสริมชนิดใดอยู่
- เตรียมเสื้อผ้าที่เหมาะกับการตรวจสุขภาพประจำปี เช่น เสื้อผ้าหลวม ๆ สำหรับการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม

การตรวจสุขภาพเฉพาะทางที่ผู้หญิงไม่ควรมองข้าม
นอกจากการตรวจสุขภาพทั่วไปแล้ว การตรวจคัดกรองโรคที่พบบ่อยในผู้หญิงก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะหากรู้เร็วหรือตรวจพบตั้งแต่ระยะเริ่มต้นยิ่งมีโอกาสที่จะรักษาให้หายขาดได้ ซึ่งการตรวจสุขภาพเฉพาะทางที่สำคัญสำหรับผู้หญิงได้แก่
การตรวจมะเร็งปากมดลูก
การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกควรเริ่มตั้งแต่อายุ 21 ปี และตรวจเป็นประจำทุก 3 ปี หรือตรวจทุกปีในกรณีที่มีปัจจัยเสี่ยงตามคำแนะนำของแพทย์ โดยการตรวจมะเร็งปากมดลูก สามารถทำได้ 3 วิธี คือ ตรวจแบบ Pap Smear, ตรวจแบบ ThinPrep Pap Test และการตรวจ HPV DNA Testing
การตรวจมะเร็งเต้านม
มะเร็งเต้านมเป็นอีกหนึ่งโรคร้ายสำหรับผู้หญิงในหลายช่วงวัย การตรวจมะเร็งเต้านมจึงเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ โดยสามารถตรวจด้วยตัวเองเบื้องต้นได้จากการคลำบริเวณใต้กระดูกไหปลาร้า ด้านในบริเวณกระดูกกลางหน้าอก ด้านข้างแนวกึ่งกลางรักแร้ และด้านล่างของกระดูกซี่โครงซี่ที่ 6 สำหรับการตรวจด้วยแพทย์จะเป็นวิธีการตรวจโดยดิจิตอลแมมโมแกรมและการตรวจอัลตราซาวนด์ ทั้งนี้ ผู้หญิงอายุ 40 ปีขึ้นไป หรือผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านม ควรตรวจแมมโมแกรมทุกปี
การตรวจความหนาแน่นของมวลกระดูก
ผู้หญิงที่อยู่ในช่วงวัย 45 ปีขึ้นไป อาจมีภาวะเสี่ยงต่อการเป็นโรคกระดูกพรุน การตรวจความหนาแน่นของมวลกระดูกจะช่วยให้ทราบถึงความเปลี่ยนแปลง และหาวิธีป้องกันได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ สำหรับคนที่เคยผ่านการผ่าตัดรังไข่ออกทั้ง 2 ข้าง หรือเข้าสู่วัยทองก่อนกำหนด ควรตรวจความหนาแน่นของกระดูกทุกปี
คำแนะนำจากแพทย์ ความถี่ที่ควรตรวจสุขภาพในแต่ละช่วงวัย
การตรวจสุขภาพประจำปีสำหรับผู้หญิงอาจมีความถี่ที่แตกต่างกันไปในแต่ละช่วงวัย และตามความเสี่ยงของแต่ละคน โดยความถี่ที่เหมาะสมในการตรวจสุขภาพแต่ละช่วงวัย มีดังนี้
- อายุ 20-30 ปี : ควรตรวจสุขภาพทุก 1-2 ปี หากมีความเสี่ยงสูง แพทย์อาจพิจารณาการตรวจเพิ่มเติมเฉพาะโรคทุก ๆ 6 เดือน
- อายุ 31-40 ปี : ช่วงวัยทำงานที่ต้องเผชิญกับความเครียด และสภาพสิ่งแวดล้อม ช่วงวัยนี้จำเป็นต้องตรวจสุขภาพทุกปี
- อายุ 41-50 ปี : ช่วงวัยที่ควรตรวจสุขภาพทุกปี และควรเพิ่มการตรวจเฉพาะทาง
- อายุ 51 ปีขึ้นไป : ตรวจสุขภาพทุกปีหรือทุก 6 เดือน พร้อมกับเพิ่มการตรวจเฉพาะทางและตรวจคัดกรองโรคเรื้อรัง
สุขภาพดีเริ่มที่ตัวคุณ ข้อดีของการตรวจสุขภาพประจำปี
การตรวจสุขภาพประจำปีเป็นสิ่งที่ผู้หญิงทุกวัยควรให้ความสำคัญควบคู่ไปกับการดูแลสุขภาพตั้งแต่เนิ่น ๆ เพราะช่วยให้พบโรคได้ตั้งแต่ระยะยแรก มีโอกาสที่แพทย์จะทำการรักษาให้หายขาดได้เร็ว นอกจากนี้การตรวจสุขภาพยังช่วยลดความเสี่ยงของโรคร้ายแรง และส่งเสริมการมีคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้หญิงทุกคน ทั้งนี้ก็อย่าลืมวางแผนตรวจสุขภาพประจำปีให้เหมาะกับแต่ละช่วงวัย เพื่อสุขภาพที่ดีในระยะยาวและใช้ชีวิตได้อย่างมั่นใจไร้ความกังวล